Skip to main content

ประเทศไทย: การปราบปรามอย่างต่อเนื่องก่อนการเลือกตั้ง

คำสัญญาที่ว่างเปล่าของรัฐบาลทหารว่าจะเคารพสิทธิ และฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย

© 2018 Kyodo News via Getty Images
(นิวยอร์ก) – รัฐบาลทหารของไทยแทบไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในปี 2561 เพื่อแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้น ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ในรายงานสถานการณ์โลก 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อประกันว่าจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยพลเรือนอย่างแท้จริง

“ในขณะที่ใกล้จะถึงการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารไทยควรดำเนินการฟื้นฟูเสรีภาพด้านประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมกับกระบวนการเลือกตั้งอย่างเต็มที่และเป็นธรรม” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทหารยังคงมุ่งปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์ต่อไป ยังคงห้ามการประท้วงอย่างสงบ และเซ็นเซอร์สื่อ”

ในรายงานสถานการณ์โลก 2561 ปีที่ 29 ความยาว 674 หน้า ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ประมวลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ ในบทนำ เคนเนท โรห์ ผู้อำนวยการบริหารกล่าวว่า ในปัจจุบันนักประชานิยมได้กระพือความเกลียดชังและความไม่อดออมในประเทศต่าง ๆ เป็นเหตุให้เกิดแรงต่อต้านมากขึ้น การรวมตัวครั้งใหม่ของรัฐบาลที่เคารพสิทธิ ซึ่งมักเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นและความร่วมมือของกลุ่มพลเรือนและสาธารณะ ทำให้การปกครองด้วยระบอบเผด็จการมีต้นทุนสูงขึ้น ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความรับผิดชอบที่จะดำเนินการเช่นนั้น แม้ในช่วงเวลาที่ดูมืดมนลง

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ยังคงใช้อำนาจอย่างปราศจากการตรวจสอบ ทั้งจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และไม่มีการรับผิดแม้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง กองทัพมีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว และสอบปากคำพลเรือน โดยไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ เป็นเหตุให้มีพลเรือนอย่างน้อย 1,800 คนถูกฟ้องในศาลทหาร ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ

นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นผลมาจากการแสดงความเห็นของตนอย่างสงบ ยังมีข้อห้ามต่อการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เมื่อเร็ว ๆ นี้นักกิจกรรมกว่า 100 คนถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และบางคนถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่น จากการเรียกร้องอย่างสงบให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญา โดยไม่ให้มีการชะลอออกไป และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยทันที

ในปัจจุบัน รัฐบาลทหารทำการเซ็นเซอร์และขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม ทางการไทยได้ปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย

รัฐบาลทหารไม่เคารพพันธกรณ๊ของประเทศไทย ที่จะต้องประกันให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้ หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชนมักฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโต้กับบุคคลที่ออกมาเปิดโปงว่ามีการปฏิบัติมิชอบ

รัฐบาลทหารไม่ดำเนินการนำตัวผู้ที่เคยละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงมาลงโทษ โดยเฉพาะการสังหารในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” เมื่อปี 2546 และการสลายการชุมนุมที่นองเลือดเมื่อปี 2553 ทั้งยังไม่มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซึ่งได้ปฏิบัติมิชอบในระหว่างปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ได้ปฏิบัติมิชอบหลายครั้งต่อพลเรือน

ภายหลังรัฐประหารปี 2557 สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศประกาศว่า จะฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่เป็นปรกติกับประเทศไทย ก็ต่อเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเพื่อให้มีรัฐบาลพลเรือนในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อมีการปรับปรุงให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนเท่านั้น รัฐบาลเหล่านี้จึงควรกดดันรัฐบาลทหารให้ยุติการปราบปราม เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือนโดยทันที

“เราไม่ควรยอมรับคำสัญญาที่ว่างเปล่าของพลเอกประยุทธ์อย่างง่ายดาย เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบปรกติกับประเทศไทย” อดัมส์กล่าว “พันธมิตรของประเทศไทยควรประกาศอย่างชัดเจนว่า จะยอมรับการเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการที่สอดคล้องอย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของประชาชนคนไทยเท่านั้น”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.