Skip to main content

แถลงการณ์ร่วม ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ศาลมีกำหนดพิจารณาคำร้องใหม่ในวันที่ 3 ธันวาคม

(กรุงเทพฯ) - พวกเราซึ่งเป็นองค์กร 16 องค์กรที่มีชื่อด้านท้าย เรียกร้องทางการไทยและบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ให้ประกันว่าการดำเนินคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งทางบริษัทได้ฟ้องต่อนาน วินและสุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้เปิดโปงให้เห็นการละเมิดสิทธิแรงงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด นั้นยุติลง ศาลอาญากรุงเทพ มีกำหนดไต่สวนมูลฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาในวันที่ 3 ธันวาคม

ทางบริษัทซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ของไทยในจังหวัดลพบุรี ยังควรถอนฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาและถอนฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งที่ไร้ซึ่งน้ำหนักต่อแรงงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมโดยสันติซึ่งคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย

เรายังเรียกร้องทางการไทยให้ประกันว่า บุคคลจะต้องไม่ถูกฟ้องหรือรับผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทจากการดำเนินกิจกรรมที่คุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญาของคดีหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทย รวมทั้งคุ้มครองบุคคลและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการใช้ประโยชน์ทางกฎหมายอย่างมิชอบ โดยมุ่งขัดขวางการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

การฟ้องคดีนี้เป็นผลเนื่องมาจากภาพยนตร์ความยาว 107 วินาทีของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฟ้องคดีหมิ่นประมาทของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต่ออดีตคนงาน 14 คนที่มาจากเมียนมาก่อนหน้านี้ โดยในภาพยนตร์ดังกล่าวที่เริ่มเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2560 อดีตคนงานสามคนให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับตน หลังจากคนงานได้ร้องเรียนกับทางการไทยว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งการให้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย การไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา และการยึดเอกสารประจำตัว รวมทั้งหนังสือเดินทางเอาไว้ โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กระตุ้นให้ทางบริษัทถอนฟ้องคดีอาญาต่อคนงานข้ามชาติทั้ง 14 คน และเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการเอาผิดทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท

ในเดือนตุลาคม 2561 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาต่อ นาน วิน หนึ่งในคนงานข้ามชาติที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้ และสุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของฟอร์ตี้ฟายไรต์

หากศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาในคดีนี้ นาน วิน ได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสี่ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท ขณะที่สุธารี วรรณศิริ ได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหกปี และปรับไม่เกิน 600,000 บาท นอกจากนี้ บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ยังฟ้องคดีหมิ่นประมาททางแพ่งกับสุธารี วรรณศิริ โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท เนื่องจากทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของทางบริษัท

เรากังวลอย่างยิ่งกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ในการใช้ประโยชน์จากกฎหมายไทยอย่างมิชอบ เพื่อขัดขวางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมอย่างสันติ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายไทย อันเป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย

ก่อนจะมีการฟ้องคดีครั้งล่าสุด บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ของไทยในจังหวัดลพบุรี ได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับคนงานข้ามชาติ 14 คน ที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเองเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ทั้งยังได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับอานดี้ ฮอลล์ นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อมายังได้ฟ้องคดีต่อคนงานข้ามชาติสองคนเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ในข้อหาลักทรัพย์ จากการนำบัตรบันทึกเวลางานออกจากพื้นที่บริษัท ทั้งยังได้ฟ้องข้อหาลักทรัพย์กับสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง

ประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อประกันว่า ทุกคน อันรวมถึงแรงงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิของตนอย่างเสรี โดยไม่ต้องกลัวการแก้เผ็ด รวมทั้งการคุกคามด้วยการฟ้องคดีปิดปาก ในลักษณะที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) การฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ดูเหมือนมีเจตนาเพียงเพื่อข่มขู่และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการแทรกแซงที่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล ทางการไทยควรดำเนินการเชิงรุกในการแทรกแซงฝ่ายบริหารของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด และอภิปรายถึงแนวทางต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยสามารถนำมาใช้ตอบโต้บริษัท ที่มุ่งฟ้องคดีที่ไม่ชอบธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อโจมตีคนงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในศาล

ดังที่กล่าวข้างต้น เรายังเรียกร้องรัฐบาลไทยทำให้การหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางแพ่ง มิใช่ความผิดทางอาญา ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ถือว่าโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง และไม่อาจถือเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมได้เลย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่ในการตีความพันธกรณีของรัฐตามกติกา ICCPR มีข้อเสนอแนะให้รัฐต่าง ๆ ยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท และได้ชี้แจงว่ากฎหมายหมิ่นประมาทจะต้องไม่มีลักษณะในทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติกา ICCPR และตามมาตรา 34, 35 และ 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แม้ว่าการใช้โทษทางแพ่งอาจเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายในการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล แต่การกำหนดโทษดังกล่าวก็ควรมีความเหมาะสม และให้ใช้อย่างเคร่งครัดเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว

ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังเน้นย้ำถึงพันธกรณีของรัฐที่จะต้องประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิของตนได้ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2560 ประเทศไทยได้ออกเสียงสอดคล้องกับฉันทามติล่าสุด เพื่อรับรองมติสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นย้ำถึงพันธกิจในการเคารพสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขผลกระทบร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากการดำเนินงานของพวกเขา ทั้งเป็นการเน้นย้ำถึงพันธกรณีที่มีอยู่ต่อปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งยืนยันว่ารัฐต่าง ๆ ต้องคุ้มครองสิทธิในการแสวงหา ได้มา ได้รับ และครอบครองซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และการเผยแพร่ข้อมูลนั้นให้กับบุคคลอื่น ๆ และเพื่อประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

เพื่อเป็นการยึดมั่นในพันธกิจที่มีต่อกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทางการไทยควรดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องคดีปิดปากอย่างมิชอบ อย่างเช่นคดีที่บริษัทธรรมเกษตร จำกัด และบริษัทอื่น ๆ ได้ฟ้องคนงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การดำเนินงานเพื่อยุติการฟ้องคดีปิดปาก สอดคล้องกับการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เราจึงกระตุ้นทางการไทยให้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกคุกคามด้วยกฎหมาย รวมทั้งการคุกคามด้วยการฟ้องคดีปิดปาก โดยอาจกำหนดให้มีข้อบัญญัติเพื่อให้การคุ้มครองอย่างเป็นผลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น  

ตามกติกา ICCPR และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกแทรกแซงการใช้สิทธิของตนจากหน่วยงานเอกชนรวมทั้งภาคธุรกิจ พันธกรณีที่ต้องให้ความคุ้มครองดังกล่าว ได้รับการเน้นย้ำในหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights - UN Guiding Principles) รวมทั้งกฎหมายภายในประเทศของไทย ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงกระตุ้นให้รัฐบาลไทยเตือนให้ภาคธุรกิจในประเทศไทย ตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในประเทศของไทย ในเดือนสิงหาคม 2561 ประเทศไทยได้เปิดตัวร่างฉบับใหม่ของแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีจุดหมายเพื่อบังคับใช้ตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติ

ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก คณะทำงานสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยผู้ชำนาญการอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ประกันว่าภาคธุรกิจจะไม่นำการฟ้องคดีหมิ่นประมาท มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิที่ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

คำฟ้องคดีต่อ นาน วิน สุธารี วรรณศิริ และบุคคลอื่น ซึ่งถูกคุกคามด้วยกฎหมายต้องยุติลงโดยทันที ความไม่ยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นใดต้องสิ้นสุดลง

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ก่อนจะมีการฟ้องคดีล่าสุด บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับคนงานข้ามชาติ 14 คน ที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเองเมื่อเดือนตุลาคม 2559 หลังจากคนงานกล่าวหาว่า ทางบริษัทละเมิดกฎหมายแรงงานอย่างร้ายแรง ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ยังได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับอานดี้ ฮอลล์ จากการที่เขาเขียนข้อความทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการฟ้องคดีต่อคนงาน ในเดือนสิงหาคม 2560 บริษัทธรรมเกษตร จำกัดได้ฟ้องคดีอาญาต่อคนงานข้ามชาติสองคนจากการลักทรัพย์บัตรบันทึกเวลาทำงานของพวกเขา ซึ่งพวกเขานำมาแสดงเป็นหลักฐานการละเมิดด้านแรงงานที่เกิดขึ้น ในเดือนตุลาคม 2560 บริษัทธรรมเกษตร จำกัดยังฟ้องคดีอาญาต่อสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ในข้อหาลักทรัพย์เช่นเดียวกัน คือการนำบัตรบันทึกเวลาทำงานออกมาจากโรงงาน

ในคดีก่อนหน้านี้ ศาลไทยได้ยกฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ถูกต้อง โดยในเดือนกรกฎาคม ศาลแขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน โดยศาลเห็นว่าการที่คนงานข้ามชาติร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า เกิดการละเมิดด้านแรงงาน เป็นการให้ข้อมูลอย่างสุจริตและไม่ได้เป็นข้อมูลเท็จ ในเดือนกันยายน 2561 ศาลจังหวัดลพบุรียังได้ยกฟ้องคดีในข้อหาลักทรัพย์รวมถึงบัตรบันทึกเวลาทำงาน ซึ่งทางบริษัทฟ้องต่อคนงานข้ามชาติสองคน และสุธาสินี แก้วเหล็กไหล นอกจากนั้นในเดือนกันยายน ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งกำหนดให้ทางบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต้องจ่ายเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยให้กับคนงาน 14 คน เนื่องจากการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานของไทย 

ในการคุกคามด้วยการฟ้องคดีที่คล้ายคลึงกัน บริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด ได้ฟ้องคดีต่ออานดี้ ฮอลล์ นักรณรงค์ด้านแรงงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีอาญากับเขา ซึ่งเป็นการฟ้องทั้งกฎหมายหมิ่นประมาทและพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยในคำพิพากษา ศาลย้ำว่าการทำงานวิจัยของเขาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานในไทย เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

 

ลงชื่อ:

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)

อาร์ติเคิล 19 (Article 19)

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights)

สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation)

โครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights – FIDH), ภายใต้กรอบกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อพิทักษ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Observatory for the Protection of Human Rights Defenders – OPHRD)

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights)

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists)

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network)

ว๊อยซ์ (VOICE)

องค์กรต่อต้านการทรมานโลก (World Organisation Against Torture – OMCT) ภายใต้กรอบกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อพิทักษ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OPHRD)

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.