Skip to main content

ประเทศไทย: การรื้อฟื้นโทษประหารเป็นการก้าวถอยหลังครั้งสำคัญ

รัฐบาลไทยได้ประหารชีวิตนักโทษหลังพักการประหารชีวิตมาเก้าปี

ทางการไทยประหารชีวิตชายอายุ 26 ปี ด้วยการฉีดยาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นับเป็นการประหารชีวิตของประเทศเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552   © 2018 Thai Rath
(นิวยอร์ก)– รัฐบาลไทย ควรยุติการประหารชีวิตเพิ่มเติม และดำเนินการตามความตกลงในเชิงปฏิบัติที่จะงดเว้นการบังคับใช้​โทษประหารอีกครั้ง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ทางการไทยประหารชีวิตชายอายุ 26 ปี ด้วยการฉีดยาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นับเป็นการประหารชีวิตของประเทศเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552

“การหวนกลับมาใช้โทษประหารของประเทศไทย นับเป็นการก้าวถอยหลังครั้งสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “เท่ากับว่าคำสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้หลายครั้งที่จะมุ่งหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร เป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า”

กรมราชทัณฑ์ระบุว่าได้ประหารชีวิตนายทวีศักดิ์ หลงจิ ซึ่งถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณเมื่อหกปีที่แล้ว โดยอ้างว่าเป็นการสะท้อนจุดยืนของรัฐบาลไทยที่ “เน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม มากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย” และเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงจะได้รับโทษอย่างรุนแรง การตัดสินใจครั้งนี้ถือว่าตรงข้ามกับแนวปฏิบัติที่พักการใช้โทษประหารของไทย ซึ่งได้ดำเนินสืบมาในช่วงเก้าปีที่ผ่านมา และยังมีการนำพันธกิจนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ต่อต้านโทษประหารในทุกประเทศและไม่ว่าในพฤติการณ์ใด เนื่องจากเป็นการกระทำที่โหดร้าย 

จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ จนถึงเดือนเมษายนมีนักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษประหารอยู่จำนวน 517 คน (ชาย 415 คนและหญิง 102 คน) ส่วนใหญ่มีความผิดในคดียาเสพติด ชะตากรรมของคนเหล่านี้ซึ่งได้พยายามขอเปลี่ยนโทษกำลังเสี่ยงอันตราย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ประเทศต่าง ๆ จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อพักการใช้โทษประหาร โดยให้มีการควบคุมการใช้โทษประหารอย่างต่อเนื่อง และลดฐานความผิดสำหรับโทษประหาร ทั้งนี้โดยมีความมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารในที่สุด นอกจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้ชำนาญการแห่งสหประชาชาติด้านการสังหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ประณามอย่างชัดเจนต่อการบังคับใช้โทษประหารในคดียาเสพติด

“มีหลักฐานชัดเจนทั่วโลกว่า โทษประหารไม่ส่งผลในการแก้ปัญหาอาชญากรรม และการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้ายเช่นนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่” อดัมส์กล่าว “ประเทศไทยจึงควรยุติการประหารชีวิตทั้งหมดและให้ยกเลิกโทษประหารอย่างถาวร” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.