Skip to main content

ประเทศไทย: อย่าทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลง

ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอ ควรมุ่งคุ้มครองความเป็นอิสระของหน่วยงาน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเสนอร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยอ่อนแอลง และยังทำลายความเป็นอิสระของคณะกรรมการ  © 2017 NHRCT

(นิวยอร์ก) – ร่างพระราชบัญญัติเพื่อปรับโครงสร้างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย จะทำให้หน่วยงานอ่อนแอลงอย่างมาก จึงควรมีการทบทวนเนื้อหาสาระสำคัญ  ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเอง ก่อนจะมีการออกเสียงเป็นขั้นสุดท้ายภายใน 25 วัน

องค์การสหประชาชาติ ตัวแทนการทูต และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศและของไทย ได้แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับกสม.ในครั้งนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นอิสระและมีความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมจะยืนหยัดขัดขวางการปฏิบัติมิชอบ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยรัฐบาลทหาร” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แต่ในทางตรงกันข้าม สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เหมือนสภาตรายาง โดยผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลงไปอีก ทำลายความเป็นอิสระ และเปลี่ยนให้หน่วยงานนี้กลายเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐ”

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัตินี้จะมีเนื้อหาบางส่วนในทางบวก แต่โดยภาพรวมถือว่าส่งผลกระทบต่อหน้าที่และการดำเนินงานของกสม. รวมทั้งกระบวนการสรรหาและคุณสมบัติของกรรมการ
 

หน้าที่และการดำเนินงาน

ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองความสามารถในการดำเนินงาน ความเป็นอิสระ และอำนาจหน้าที่ที่กว้างขวาง ซึ่งควรเป็นไปตามหลักการสากลว่าด้วยสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (international Principles Relating to the Status of National Institutions on Human Rights หรือ (“หลักการปารีส”) ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้กำหนดอำนาจเป็นการเฉพาะ ให้กสม.สามารถเข้าตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจ ทัณฑสถาน และสถานที่ควบคุมตัวบุคคลอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นอำนาจกำกับดูแลที่สำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์จับกุมโดยพลการและการควบคุมตัวแบบลับโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกโดยทหารหลายครั้งในประเทศไทย และมักมีข้อกล่าวหาว่าได้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัว นับแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 

ร่างพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเนื้อหาของมาตรา 247 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลทหาร โดยกำหนดว่า กรรมการต้องทำหน้าที่ “ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์

เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม” เราเสนอให้ตัดข้อบทนี้ออก เนื่องจากเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกดดันกสม. ให้วิพากษ์วิจารณ์ รายงานของหน่วยงานและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย เปลี่ยนให้กสม.เป็นเพียงหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐ และทำหน้าที่ปกป้องชื่อเสียงของรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นอิสระและมีความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมจะยืนหยัดขัดขวางการปฏิบัติมิชอบ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยรัฐบาลทหาร
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กสม.มีอำนาจในการยื่นคำร้อง และให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง เกี่ยวกับกฎหมายซึ่งก่อให้เกิดความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน กสม.ยังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลโดยเป็นตัวแทนผู้เสียหาย กรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป แต่อำนาจดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป หลังการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 

ร่างพระราชบัญญัตินี้จะเปิดโอกาสให้กสม.สามารถยื่นคำร้องต่อศาล ในนามของผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เฉพาะเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถยื่นคำร้องได้ด้วยตนเองเท่านั้น ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงควรถูกทบทวน เพื่อให้กสม.มีอำนาจอีกครั้งที่จะยื่นคำร้องและให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง

ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังจำกัดความสามารถของกรรมการอย่างไม่จำเป็น ในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เนื่องจากมีการห้ามไม่ให้กสม.รับประโยชน์จากหน่วยงานต่างชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติและสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ได้แสดงข้อกังวลว่า รัฐบาลอาจใช้เงื่อนไขดังกล่าว เพื่อขัดขวางไม่ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมในกิจกรรมและการอบรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จึงควรมีการตัดข้อบทนี้ออกจากร่างพระราชบัญญัตินี้
 

กระบวนการสรรหาและคุณสมบัติของคณะกรรมการ

ทางหน่วยงานพันธมิตรโลกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions) มีข้อสังเกตเมื่อปี 2557 ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็น “ข้าราชการจากบางหน่วยงานของรัฐ โดยไม่มีบุคคลใดเป็นตัวแทนอย่างชัดเจนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักหรือภาคประชาสังคม หรือไม่มีข้อกำหนดให้ต้องปรึกษาหารือกับหน่วยงานเหล่านั้น” ในปี 2558 ทางหน่วยงานพันธมิตรโลกและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงได้ลดสถานะของกสม.ในการจัดอันดับโลก จากระดับ “A” เป็น “B” เท่ากับเป็นการตัดสิทธิของกสม.ที่จะเข้าร่วม และแสดงความเห็นในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

ผลจากการลงโทษดังกล่าว เป็นเหตุให้ในร่างพระราชบัญญัตินี้มีการปรับรื้อกระบวนการสรรหากรรมการ โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ระบุว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการสรรหากรรมการอย่างโปร่งใส เปิดให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะ และให้มีการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามหลักการปารีส ซึ่งกำหนดให้มีกระบวนการและขั้นตอนการเสนอชื่อและการสรรหาผู้สมัครที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

ตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ กรรมการต้องเป็นผู้มีอายุอย่างน้อย 45 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยผู้สมัครยังต้องมีความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน หรือมีประสบการณ์การบริหารหน่วยงานสาธารณะเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

แม้เป็นเรื่องที่เหมาะสมว่ากรรมการควรมีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่หนักแน่น แต่ไม่เป็นสิ่งสมควรที่กำหนดให้กรรมการต้องจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ประเทศไทยมีบุคคลซึ่งมีทักษะและประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีโอกาสเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านอายุก็เป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะเป็นอุปสรรคต่อผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งหลักเกณฑ์ด้านการศึกษาและอายุควรถูกตัดออกจากร่างพระราชบัญญัตินี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

คณะกรรมการสรรหาตามร่างกฎหมายใหม่นี้จะมีส่วนร่วม และมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน มากกว่ากระบวนการในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่จะประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนสามคนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนหนึ่งคนจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย หรือผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้แทนหนึ่งคนจากสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทำงานวิจัยด้านด้านสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี ร่างพระราชบัญญัตินี้ระบุว่า คณะกรรมการสรรกาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนขององค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน กรณีที่คณะกรรมการสรรหามีความเห็นให้ชะลอการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว ข้อบทนี้เปิดช่องที่ไม่จำเป็นให้รัฐบาลสามารถกีดกันกลุ่มสิทธิมนุษยชน จากการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา และควรถูกตัดออกไป ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“ร่างพระราชบัญญัตินี้ควรถูกนำกลับไปปรับปรุงใหม่เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง ซึ่งทำลายความเข้มแข็ง ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่อย่างใด” อดัมส์กล่าว “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องสามารถยืนหยัดอย่างเป็นอิสระและเข้มแข็ง เพื่อทัดทานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งกำลังดิ่งลงเหวในปัจจุบัน” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.