Skip to main content

ประเทศไทย: ให้รื้อฟื้นการสอบสวนกรณีนักกิจกรรมที่ถูกทำให้หายตัวไป

ความยุติธรรมที่เป็นมลทินจากการสอบสวนแบบที่ช่วยกลบเกลื่อนความผิดและหย่อนยาน และช่องว่างของกฎหมาย

นายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงที่มีชื่อเสียง หายตัวไประหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีเมื่อเดือนเมษายน 2557  © 2014 Human Rights Watch / Private

(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรรื้อฟื้นโดยทันทีให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีชื่อเสียง ซึ่งหายตัวไปเมื่อเกือบสามปีก่อน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งยุติการสอบสวนกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ซึ่งหายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2557

รัฐบาลยังคงมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมหรือที่อยู่ของนายบิลลี่

“การสอบสวนของทางการไทยต่อกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนายบิลลี่ ประสบปัญหาเนื่องจากการสอบสวนแบบที่ช่วยกลบเกลื่อนความผิดและหย่อนยาน รวมทั้งช่องโหว่ในกฎหมายไทย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แม้จะผ่านไปเกือบสามปี แต่พันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยกำหนดไม่ให้รัฐบาลละทิ้งหน้าที่จากกรณีนี้ได้ รัฐบาลต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้รับผิดชอบ”

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น และเจ้าหน้าที่ของเขาได้จับกุมและควบคุมตัวนายบิลลี่ฐานครอบครองน้ำผึ้งป่าจำนวนหกขวดอย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่อุทยานให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 7 ในเวลาต่อมาว่า พวกเขาปล่อยตัวบิลลี่หลังจากสอบปากคำเพียงสั้น ๆ และไม่มีข้อมูลว่าเขาอยู่ที่ไหน

ในเดือนกันยายน 2557 เจ้าพนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 7 ได้แจ้งความดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาต่อนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานอีกสี่คน เนื่องจากการควบคุมตัวนายบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจไม่พบว่ามีหลักฐานการปล่อยตัวบิลลี่แต่อย่างใด

การสอบสวนในหลายครั้งยังคงไม่ได้ข้อสรุป และไม่สามารถอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ได้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมปากคำจากพยานกว่า 200 ปาก และได้ยึดรถยนต์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจำนวนเจ็ดคัน เพื่อตรวจพิสูจน์ แม้จะพบร่องรอยเลือดของมนุษย์ในรถยนต์ของทางอุทยาน แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเลือดเหล่านั้นเป็นของนายบิลลี่ เนื่องจากมีการทำความสะอาดรถยนต์นั้นก่อนที่เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติเวชจะทำการตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เข้ามาดำเนินการในคดีนี้เช่นกัน

ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญาร้ายแรง รวมทั้งคดีที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องใช้ความสามารถพิเศษในการสอบสวน ความผิดที่เป็นการกระทำของกลุ่มอาชญากรรมที่จัดตั้งเป็นองค์กร และคดีที่ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ

การสอบสวนประสบปัญหามากขึ้น เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีข้อบัญญัติเพื่อเอาผิดกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย รัฐบาลกระทำความผิดฐานการบังคับบุคคลให้สูญหาย เมื่อเจ้าพนักงานของรัฐควบคุมตัวบุคคล และต่อมาปฏิเสธว่าไม่ได้ควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว หรือปกปิด หรือไม่ยอมเปิดเผยที่อยู่ของบุคคลนั้น การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็น “ความผิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง” หมายถึงว่าเป็นความผิดที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไป จนกว่าจะเป็นที่ปรากฏว่าผู้เสียหายอยู่ที่ใดหรือมีชะตากรรมเป็นอย่างไร ลักษณะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องของความผิดเช่นนี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวง เนื่องจากครอบครัวของพวกเขาไม่ทราบว่าบุคคลที่ตนรักยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งประเทศไทยลงนามเมื่อปี 2555 และควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาอย่างหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 รัฐบาลประกาศจะผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดทางอาญากับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และจะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสัญญาดังกล่าว  

“ทางการไทยควรเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดความจริงเกี่ยวกับกรณีของนายบิลลี่ เพื่อประโยชน์ของครอบครัวของเขา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนักปกป้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยง และเพื่อยุติการสูญหายของบุคคลในประเทศไทย” อดัมส์กล่าว

ในช่วงที่หายตัวไป บิลลี่อยู่ระหว่างเดินทางจากหมู่บ้านซึ่งอยู่ในเทือกเขาของอำเภอแก่งกระจาน เพื่อไปพบปะกับชาวบ้านและนักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง เพื่อเตรียมให้การในศาลในคดีที่ชาวบ้านฟ้องร้องคดีต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชัยวัฒน์ ชาวบ้านได้กล่าวหาในคำฟ้องว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ทางการได้เข้าไปทำลายและเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของครอบครัวชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครัวเรือนที่บ้านบางกลอยบน บิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นถวายฎีกาต่อในหลวง โดยช่วงที่หายตัวไปเขาได้นำแฟ้มสำนวนคดีและหลักฐานที่เกี่ยวข้องติดตัวไปด้วย

แม้ที่ผ่านมานายชัยวัฒน์จะถูกกล่าวหาดำเนินคดีเนื่องจากการปฏิบัติมิชอบและการประพฤติผิดร้ายแรงหลายกรณี ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากลับเลื่อนตำแหน่งให้นายชัยวัฒน์เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจพญาเสือ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องป่าไม้และสัตว์ป่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559  

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Most Viewed