Skip to main content

ประเทศไทย: ให้สอบสวนการเสียชีวิตในสถานกักตัวคนต่างด้าว

ยุติการกักตัวโดยไม่มีกำหนดต่อผู้แสวงหาที่พักพิง

Ijaz Paras Masih sits in a hospital bed in Thailand (date unknown).    © 2017 British Pakistani Christian Association

(นิวยอร์ก) – รัฐบาลไทยควรสอบสวนโดยทันที กรณีการเสียชีวิตของชายชาวปากีสถานในสถานกักตัวคนต่างด้าว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ กรณีนี้ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2560 ลีอาซ มาซีห์ (Ijaz Masih) ชาวปากีสถานซึ่งนับถือศาสนาคริสต์อายุ 36 ปี ได้เกิดอาการหัวใจวายระหว่างอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้นเขาถูกควบคุมตัวที่นี่มากว่าหนึ่งปีในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ปฏิเสธคำขอสถานะผู้ลี้ภัยของเขาหนึ่งวันก่อนหน้านี้ เขาเสียชีวิตไม่นานหลังถูกนำตัวไปถึงโรงพยาบาลตำรวจ

“ทางการไทยกำลังทำให้ผู้ต้องการความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย ต้องตกอยู่ใต้ความเสี่ยงอย่างยิ่ง ด้วยการควบคุมตัวพวกเขาในสภาพที่เลวร้ายในสถานกักตัวคนต่างด้าว” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การเสียชีวิตของลีอาซ มาซีห์ควรถือเป็นสัญญาณเตือน เพื่อให้ยุตินโยบายอันเป็นการปฏิบัติมิชอบในการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิง ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบคำขอสถานะผู้ลี้ภัย”

ทางการไทยกำลังทำให้ผู้ต้องการความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย ต้องตกอยู่ใต้ความเสี่ยงอย่างยิ่ง ด้วยการควบคุมตัวพวกเขาในสภาพที่เลวร้ายในสถานกักตัวคนต่างด้าว
แบรด อดัมส์

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ลีอาซ มาซีห์เป็นหนึ่งในชาวปากีสถานซึ่งนับถือศาสนาคริสต์หลายร้อยคน ซึ่งอ้างว่าถูกคุกคามระหว่างอยู่ในปากีสถาน และสุดท้ายต้องมาถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าว อันมีสภาพเลวร้ายในประเทศไทย โดยทางการไทยปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งไม่มีสิทธิใด ๆ รวมทั้งผู้ที่เป็นผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ในปากีสถาน ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติ ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นศาสนา และถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการโจมตีอย่างรุนแรง

ตามกฎหมายไทย ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทุกคนรวมทั้งที่เป็นเด็ก ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ลี้ภัยซึ่งได้รับสถานะแล้ว อาจถูกจับกุมและควบคุมตัวในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ สถานกักตัวคนต่างด้าวหลายแห่งในประเทศไทยมีสภาพแออัดยัดเยียดอย่างมาก มีอาหารที่จัดให้ไม่เพียงพอ การระบายอากาศไม่ดี และไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและบริการที่จำเป็นอื่น ๆ ผู้ถูกควบคุมตัวถูกกักตัวอยู่ในห้องขังขนาดเล็กคล้ายกรงขัง แทบไม่มีที่ให้สำหรับนั่ง อย่าว่าแต่จะนอน เด็กมักจะถูกขังรวมกับผู้ใหญ่

มีรายงานมาเป็นเวลานานว่า สถานกักตัวคนต่างด้าวในประเทศไทยมีสภาพไม่สอดคล้องอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ร้ายแรงดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้จัดทำรายงานอย่างละเอียดเกี่ยวกับการกักตัวคนเข้าเมืองที่เป็นเด็กเมื่อปี 2557 และรายงานการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยในเขตเมืองเมื่อปี 2555 ซึ่งชี้ให้เห็นข้อบกพร่องเหล่านี้

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (1951 Refugee Convention) และไม่มีกฎหมายรับรองสถานะของผู้ลี้ภัย และไม่ได้กำหนดขั้นตอนปฏิบัติในการประเมินการขอรับสิทธิที่จะมีที่พักพิง เนื่องจากไม่มีขั้นตอนเกี่ยวกับการขอรับสิทธิที่จะมีที่พักพิง รัฐบาลไทยจึงควรเคารพต่อเอกสารที่ทาง UNHCR ออกให้กับบุคคลในความห่วงใย (persons-of-concern) และหลีกเลี่ยงไม่ควบคุมตัวบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับความคุ้มครองระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว นอกจากจะต้องยุติการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิง รัฐบาลไทยยังควรจัดให้มีทางเลือกอื่นนอกจากการควบคุมตัว ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้อย่างได้ผลในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการมีศูนย์รับรองคนเข้าเมืองแบบเปิด และมาตรการปล่อยตัวบุคคลอย่างมีเงื่อนไข 

“รัฐบาลไทยควรยอมรับว่า นโยบายการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงที่มีลักษณะลงโทษเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์และไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด” อดัมส์กล่าว “การลงโทษบุคคลซึ่งหลบหนีจากสภาพชีวิตที่เลวร้ายที่บ้านเกิด จะไม่การเข้าเมืองของพวกเขาได้ แต่จะยิ่งทำให้เกิดความทุกข์ยากกับพวกเขามากขึ้น”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.