Skip to main content

พม่า/ไทย: ชายชาวตุรกีที่เสี่ยงภัยถูกส่งตัวกลับ การปฏิบัติที่โหดร้าย

การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการเกิลเล็น และเป็นที่ต้องการตัวของทางการตุรกี

© 2017 Muhammet Furkan Sökmen

(นิวยอร์ก) – ทางการพม่า ได้บังคับส่งกลับนายมูฮัมหมัด ฟูรคาน เซิกเมน (Muhammet Furkan Sökmen) ผู้แสวงหาที่พักพิงชาวตุรกี ผ่านทางประเทศไทย ทำให้เขาเสี่ยงจะได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้


เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 เจ้าหน้าที่พม่าได้ควบคุมตัวนายเซิกเมนที่ท่าอากาศยานกรุงย่างกุ้ง ตามคำร้องขอของทางการตุรกี ซึ่งได้สั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของเขา หลังจากเขาและครอบครัวถูกควบคุมตัวประมาณ 24 ชั่วโมง เขาได้ถูกบังคับส่งกลับไปยังตุรกี ผ่านทางประเทศไทย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการเกิลเล็น ซึ่งมีผู้นำคือนายเฟตูลาห์ เกิลเล็น (Fethullah Gülen) ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ซึ่งพักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ทางการตุรกีเห็นว่าขบวนการเกิลเล็นมีส่วนรับผิดชอบต่อการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2559 และจัดว่าขบวนการนี้เป็นองค์กรก่อการร้าย ระหว่างอยู่ในประเทศไทย เขาถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักตัวคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยาน เป็นเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนจะถูกส่งกลับไปยังตุรกีในวันที่ 26 พฤษภาคม เมื่อเดินทางไปถึงตุรกี ทางการได้ควบคุมตัวนายเซิกเมนและส่งตัวเขาไปยังจังหวัดบ้านเกิดเพื่อเริ่มกระบวนการสอบสวนคดีอาญานี้ ไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นต่อเขาระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทางการตุรกี 

รัฐบาลพม่าและไทยควรประกันว่า บุคคลซึ่งอ้างว่าเสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในตุรกี ต้องสามารถขอรับความคุ้มครองได้
แบรด อดัมส์

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

“รัฐบาลพม่าและไทยละเมิดอย่างชัดเจนต่อสิทธิมนุษยชนของนายฟูรคาน เซิกเมน โดยยอมอ่อนข้อตามแรงกดดันจากรัฐบาลตุรกี และส่งตัวเขากลับประเทศ แม้เขาจะร้องขอที่พักพิง และแม้จะมีความเสี่ยงภัยอย่างแท้จริงว่าเขาจะถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายและได้รับการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมในตุรกี” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว


ในคลิปวีดิโอสองชิ้น ที่นายเซิกเมนส่งออกมาระหว่างถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ก่อนที่โทรศัพท์ของเขาจะถูกทางการไทยยึดและมอบให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูตตุรกี เขากล่าวว่า “ผมขอเรียกร้องทุกคน กรุณาช่วยผมด้วย ผมอยู่ในอาคารผู้โดยสาร พวกเขากำลังผลักดันผมกลับ พวกเขาพยายามส่งตัวผมให้สถานทูตตุรกี กรุณาช่วยผมด้วย คนทั้งโลก กรุณาช่วยผมด้วย” ในวีดิโอชิ้นความยาว 20 วินาที เขากล่าวว่า “กรุณาช่วยผมด้วย ขณะนี้ผมอยู่ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ พวกเขากำลังผลักดันผมกลับ พยายามส่งตัวผมให้เจ้าหน้าที่สถานทูตตุรกี พวกเขาพยายามผลักดันผมกลับตุรกี ผมไม่ต้องการกลับไปตุรกี ผมต้องการอยู่ที่นี่ กรุณาช่วยผมด้วย คนทั้งโลก กรุณาช่วยผมด้วย”

การส่งตัวนายเซิกเมนกลับได้เกิดขึ้นต่อไป แม้ว่าทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) และหน่วยงานสหประชาชาติอื่น ๆ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่สำคัญทั้งของพม่าและไทยทราบว่ามีข้อมูลที่สำคัญ ทำให้เชื่อได้ว่านายเซิกเมนเสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อถูกส่งตัวกลับไปตุรกี


การบังคับส่งกลับนายเซิกเมนไปตุรกี ซึ่งจะทำให้เขาเสี่ยงจะถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายขณะควบคุมตัว ทั้งนี้โดยไม่ได้มีการพิจารณาคำขอรับความคุ้มครองของเขา ถือเป็นการละเมิดต่อหลักการไม่ส่งกลับ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ รัฐบาลพม่าและไทยมีพันธกรณีต้องประกันว่าบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตน จะต้องไม่ถูกบังคับส่งกลับไปยังสถานที่ ซึ่งเสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลักการไม่ส่งกลับยังเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี

“เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งที่ทั้งทางการพม่าและไทย แสดงความสยบยอมต่อข้อเรียกร้องที่ละเมิดสิทธิของตุรกี แทนที่จะเคารพหลักการพื้นฐานของการไม่ส่งกลับ ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐบาลใด ๆ ส่งตัวผู้แสวงหาที่พักพิงกลับ โดยไม่มีการพิจารณาคำร้องขอความคุ้มครองของเขาเสียก่อน” อดัมส์กล่าว

นายเซิกเมนเป็นพนักงานบัญชี เดิมเขาเป็นผู้อำนวยการบริษัท ซึ่งบริหารกิจการโรงเรียนนานาชาติที่มีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการเกิลเล็นในกรุงย่างกุ้ง และเพิ่งปิดตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ สื่อมวลชนตุรกีซึ่งรายงานข่าวการส่งตัวเขากลับไปยังตุรกีกล่าวหาว่า เขาเป็นหนึ่งในแกนนำของขบวนการเกิลเล็นในพม่า นับแต่เดือนตุลาคม 2559 เขาเป็นคนสุดท้ายในบุคคลหกคนที่ถูกบังคับส่งตัวกลับจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังตุรกี เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องขบวนการนี้ อีกห้าคนที่เหลือถูกส่งตัวกลับจากมาเลเซียไปยังตุรกี และเชื่อว่าทั้งห้าคนยังคงถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี

ทางตุรกีกล่าวหาว่านายเฟตูลาห์ เกิลเล็นอยู่เบื้องหลังความพยายามทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 แต่นายเกิลเล็นปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นับแต่ความพยายามทำรัฐประหารครั้งนั้น รัฐบาลตุรกีได้ควบคุมตัวบุคคลกว่า 50,000 คนเพื่อรอการพิจารณาคดีในบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัว ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ครู นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้พิพากษา และพนักงานอัยการ ส่วนใหญ่พวกเขาถูกแจ้งข้อหาก่อการร้ายเนื่องจากมีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการเกิลเล็น และหลายคนได้ถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานโดยไม่ผ่านกระบวนการอันควรตามกฎหมาย หรือไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญา ผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนกล่าวหาว่าพวกเขาถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ และระหว่างอยู่ในเรือนจำก็ถูกจำกัดสิทธิการเยี่ยมของครอบครัวอย่างมาก ถูกจำกัดสิทธิในการรับและส่งจดหมาย รวมทั้งการสื่อสารอย่างเป็นส่วนตัวกับทนายความ สภาพการควบคุมตัวในเรือนจำมีลักษณะที่ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

“รัฐบาลพม่าและไทยควรประกันว่า บุคคลซึ่งอ้างว่าเสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในตุรกี ต้องสามารถขอรับความคุ้มครองได้” อดัมส์กล่าว “เพื่อให้ชัดเจนว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศจะไม่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอีกต่อไป ทั้งรัฐบาลพม่าและไทยควรประกาศโดยทันทีว่า จะอนุญาตให้หน่วยงานสหประชาชาติสามารถเข้าถึงและประเมินคำร้องขอความคุ้มครองของพลเมืองสัญชาติตุรกีซึ่งเป็นที่ต้องการตัวโดยทางการตุรกี และต้องไม่ส่งตัวบุคคลเหล่านี้กลับไปยังตุรกี กรณีที่พวกเขาได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.