Skip to main content

ประเทศไทย: รัฐบาลทหารนำความผิดทางอาญามาใช้อย่างมิชอบ

ถอนฟ้องคดีต่อผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กคนสำคัญ

(นิวยอร์ก) – รัฐบาลทหารไทยพุ่งเป้าโจมตีผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบจำนวนมาก โดยมีการฟ้องคดีก่อนจะถึงโอกาสครบรอบสามปีของรัฐประหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนายวีระ สมความคิด อายุ 59 ปี นักกิจกรรมต่อต้านคอรัปชันคนสำคัญ โดยกล่าวหาว่าเขาล้อเลียนนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านเฟซบุ๊ก

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มักคุกคามและดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ รวมทั้งผู้แสดงความเห็นที่ตลกขบขันเกี่ยวกับรัฐบาลทหาร นับแต่ยึดอำนาจในตอนทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

วีระ สมความคิด นักกิจกรรมต่อต้านคอรัปชั่นคนสำคัญได้ถูกตั้งข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการเขียนล้อเลียนนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยผ่านเฟซบุ๊ก ©2017 Private

“รัฐบาลทหารไม่ยอมอดทนรับฟังแม้แต่การล้อเลียนผ่านเฟซบุ๊ก โดยอดไม่ได้ที่จะต้องจับคนขังคุก” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ความไม่อดทนรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและความเห็นที่ตรงข้าม เป็นแบบแผนขั้นต้นของระบอบปกครองเผด็จการ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย”  

มีการออกหมายจับนายวีระเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 ตามความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเดือนธันวาคม ข้อกล่าวหาต่อเขาเป็นผลมาจากการทำแบบสอบถามเชิงล้อเลียนผ่านเฟซบุ๊กของเขา โดยการตั้งคำถามว่า มีคำสัญญาข้อใดบ้างในเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ของรัฐบาลทหารที่แต่งโดยพลเอกประยุทธ์ ได้มีการปฏิบัติตามที่สัญญาไว้ ผู้เข้าร่วมแบบสอบถาม 123 คน ส่วนใหญ่ตอบว่า “ไม่มี” คำสัญญาข้อใดของรัฐบาลทหารที่รับการปฏิบัติตาม

ในเวลาต่อมากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวหาว่านายวีระชี้นำสาธารณะด้วยการรายงานข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความนิยมของรัฐบาลทหาร นายวีระกล่าวว่า แบบสอบถามของเขาเป็นการตอบโต้กับการสำรวจความเห็นที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยหน่วยงานสำรวจความเห็นที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากให้ความสนับสนุนนายกรัฐมนตรี

เมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับบุคคลใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้อเลียนเขาผ่านโซเชียลมีเดีย “ทุเรศ ใครเปิดมาอีกผมจะฟ้องทั้งหมด ใครเอารูปผมไปเต้นอะไรแบบนั้น มันผิดกฎหมาย...ฝ่ายกฎหมายผมเขาดูหมดแล้วนะ เพราะมันเข้าข่ายผิดกฎหมาย”  

ไม่นานหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ทางการไทยได้จับกุมบุคคลแปดคนได้แก่ น.ส.ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ นายหฤษฏ์ มหาทน นายนพเก้า คงสุวรรณ นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ นายโยธิน มั่งคั่งสง่า นายธนวรรธน์ บูรณศิริ นายศุภชัย สายบุตร และนายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเผยแพร่ความเห็นในเฟซบุ๊กล้อเลียนที่ชื่อ “เรารักพลเอกประยุทธ์” พวกเขาถูกตั้งข้อหาขบถล้มล้างการปกครองตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ

ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2559 กองทัพได้ควบคุมตัวนักเขียนการ์ตูนคนสำคัญคือนายศักดา แซ่เอียว (หรือนามปากกาว่าเซีย) ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และได้จับเขาเข้ารับการอบรมเพื่อ “ปรับทัศนคติ” หลังจากที่เขาเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนการกล่าวปราศรัยของพลเอกประยุทธ์ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ โดยผู้นำรัฐบาลทหารสัญญาว่าจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริงกลับมีการปราบปรามละเมิดสิทธิเกิดขึ้นทุกวันในประเทศไทย นายศักดายังถูกเตือนว่าอาจถูกดำเนินคดีถ้าเขายังคงวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์หรือสมาชิกคนอื่น ๆ ของรัฐบาลทหารต่อไป

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ห้ามการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้ และต้องมีการตีความอย่างเคร่งครัด และนำมาใช้เท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ชอบ กฎหมายซึ่งกำหนดโทษทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบ เป็นข้อกังวลอย่างสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อการแสดงความเห็นอย่างเสรี

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นคณะผู้ชำนาญการอิสระที่ดูแลการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ได้ระบุในความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกว่า

“เพียงข้อเท็จจริงที่ว่ารูปแบบการแสดงออกมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะสนับสนุนให้กำหนดบทลงโทษ...นอกจากนั้น เป็นการชอบแล้วที่บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งผู้ซึ่งสามารถใช้อำนาจสูงสุดทางการเมือง อย่างเช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกต่อต้านทางการเมืองได้ ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการจึงแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายในประเด็นนี้ รวมทั้ง....การแสดงความไม่เคารพต่อทางการ....และกฎหมายที่คุ้มครองเกียรติยศของเจ้าพนักงานของรัฐ [รัฐบาล] ประเทศต่าง ๆ ไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ รวมทั้งกองทัพหรือฝ่ายบริหาร”

เมื่อวันที่ 13 และ 14 มีนาคม ไม่นานหลังจากทางการตั้งข้อหาต่อนายวีระ คณะผู้แทนไทยแจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างการทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศตามกติกา ICCPR ว่า รัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ดี หลักฐานที่เป็นอยู่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทหารปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อเสรีภาพในการแสดงออก เนื่องจากทางการมักจะคุกคามและดำเนินคดีต่อบุคคลเนื่องจากการพูดแสดงความเห็น การเขียน และการโพสต์ข้อความทางอินเตอร์เน็ตในลักษณะที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล

“รัฐบาลทหารควรยุติการใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางเพื่อปิดปากและลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตน” อดัมส์กล่าว “ผู้ที่เป็นมิตรต่อประเทศไทยไม่เพียงต้องกดดันให้ปล่อยตัวนายวีระ แต่ยังต้องกดดันรัฐบาลให้ยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความเห็นของตนอย่างสงบ”

 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.