Skip to main content

ประเทศไทย: นักกิจกรรมถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมฐาน “หมิ่นสถาบันฯ”

ยุติการใช้อำนาจอย่างมิชอบตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญโดยทันที เขาถูกตั้งข้อหาอันเป็นผลมาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยเป็นความผิดตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการฟ้องคดีของกองทัพ

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์และสมาชิกกลุ่มดาวดินซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร   © 2016 Reuters/Amy Lefevre

“การตั้งข้อหากับจตุภัทร์แสดงให้เห็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมิชอบของรัฐบาลทหารไทย เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างจากระบอบปกครองของทหาร” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “นายทหารที่ปกครองประเทศไทยใช้อำนาจเพิ่มมากขึ้น ในการปราบปรามการแสดงความเห็นใด ๆ ที่ขัดแย้งกับตน รวมทั้งสิ่งที่พวกเขาตัดสินเอาเองว่าเป็นความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันฯ”

จตุภัทร์ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และการละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันเป็นผลมาจากการโพสต์บทความในเฟซบุ๊กของเขาเกี่ยวกับพระราชประวัติของกษัตริย์พระราชองค์ใหม่ของไทยคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ทางการเห็นว่าบทความดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์สถาบัน และมีการปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานในประเทศไทยเข้าถึงได้

จตุภัทร์ อายุ 25 ปีเป็นนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม และเป็นสมาชิกของกลุ่มดาวดินและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม แม้ว่าจะมีผู้ “แชร์” บทความดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ตถึงกว่า 2,800 รายในช่วงที่มีการจับกุมจตุภัทร์ แต่ปรากฏว่าเขาเป็นบุคคลเดียวที่ทางการไทยตั้งข้อหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ผู้แจ้งความดำเนินคดีต่อ​​​​​จตุภัทร์เป็นนายทหารจากมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ก่อนหน้านี้หน่วยทหารดังกล่าวได้จับกุมเขาหลายครั้งเนื่องจากการจัดชุมนุมประท้วงและกิจกรรมอย่างสงบอื่น ๆ เพื่อต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยของพลเรือน

หลังถูกจับกุม จตุภัทร์ได้รับการประกันตัวออกมาด้วยวงเงิน 400,000 บาท เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ในวันที่ 22 ธันวาคม ศาลจังหวัดขอนแก่นได้เพิกถอนประกันของเขา ด้วยเหตุผลว่าเขาได้แสดงความเห็นอื่น ๆ ผ่ายเฟซบุ๊กซึ่งเป็นการล้อเลียนทางการ และไม่ยอมลบข้อความเดิมที่มีการแชร์พระราชประวัติ หลังจากนั้นมาศาลได้ปฏิเสธการขอประกันตัวของจตุภัทร์อีกหลายครั้ง

ในวันที่ 20 มกราคม ศาลสั่งพิจารณาลับโดยทนายความของจตุภัทร์ไม่ได้อยู่ร่วมด้วย และมีคำสั่งให้ขยายเวลาควบคุมตัวก่อนการพิจารณาของเขาออกไปอีก 12 วัน นับเป็นการฝากขังครั้งที่ห้า ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น และยังถูกค้นตัวโดยมีการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างมิชอบทุกครั้ง หลังกลับจากการขึ้นศาล ผลจากการถูกควบคุมตัว ทำให้เขาไม่สามารถเข้าสอบในวิชาที่จำเป็นเพื่อจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

นายทหารที่ปกครองประเทศไทยใช้อำนาจเพิ่มมากขึ้น ในการปราบปรามการแสดงความเห็นใด ๆ ที่ขัดแย้งกับตน รวมทั้งสิ่งที่พวกเขาตัดสินเอาเองว่าเป็นความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันฯ
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ที่ผ่านมารัฐบาลทหารไทยได้ดำเนินคดีหลายครั้งต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ซึ่งเป็นการละเมิด​​​​สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อบุคคลอย่างน้อย 68 คน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์และแชร์ข้อความทางอินเตอร์เน็ต บางส่วนได้ถูกตัดสินและกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี

สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ตามความเห็นทั่วไปที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (General Comment 34) ซึ่งเป็นคณะผู้ชำนาญการระหว่างประเทศซึ่งดูแลการปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวได้ระบุว่า กฎหมายอย่างเช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ “ไม่ควรกำหนดโทษรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุเพียงเพราะอัตลักษณ์ของบุคคล ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่อาจถูกตั้งคำถามได้” และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ “ไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ รวมทั้งกองทัพหรือฝ่ายบริหาร” นอกจากนั้น การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างสม่ำเสมอกรณีที่เป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการละเมิดข้อบทของกติกาที่ว่า “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี”

กฎหมายของไทยเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควรกำหนดข้อห้ามไม่ให้เอกชน รวมทั้งกองทัพฟ้องคดีได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการฟ้องคดีลักษณะเช่นนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว การปฏิบัติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ทางการมักไม่สามารถปฏิเสธเมื่อมีบุคคลทั่วไปแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากทางการเองก็กลัวจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ

“ความอยุติธรรมอย่างชัดเจนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อจตุภัทร์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อมีการควบคุมตัวเขาก่อนการพิจารณาเป็นเวลายาวนาน” อดัมส์กล่าว “แทนที่จะลงโทษเขาก่อนการพิจารณา ควรมีการยกเลิกข้อกล่าวหาต่อเขาโดยทันที” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.