Skip to main content

ประเทศไทย: ยกเลิกการสั่งพักการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ

รัฐบาลทหารควรรับฟังข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติที่ให้ยุติการจำกัดเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก

(นิวยอร์ก) – หน่วยงานกำกับดูแลสื่อของไทยมีมติพักใช้ใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์เป็นเวลาเจ็ดวัน ถือเป็นการเซ็นเซอร์อย่างชัดเจน ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อเสรีภาพของสื่อ และตอกย้ำความเป็นเผด็จการทางทหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทำวันทยหัตถ์ต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่กองบัญชาการกองทัพไทย กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน 2557   © 2014 Reuters

ในวันที่ 27 มีนาคม 2560 พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศพักใช้ใบอนุญาตของวอยซ์ ทีวี สถานีโทรทัศน์เอกชนซึ่งทราบกันดีว่ามักวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร การพักใช้ใบอนุญาตครั้งนี้เป็นผลมาจากคำร้องเรียนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร โดยกล่าวหาว่าทางสถานีเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาไม่เที่ยงตรงและลำเอียงและคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

“การสั่งลงโทษวอยซ์ ทีวีเนื่องจากเนื้อหาของรายการที่ออกอากาศ เป็นเพียงความพยายามล่าสุดของรัฐบาลทหารไทยที่จะควบคุมสื่อมวลชนของไทยที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทอย่างกว้างขวาง และกดดันให้พวกเขากลายเป็นเพียงกระบอกเสียงของระบอบปกครองของทหาร” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐบาลทหารพยายามขัดขวางไม่ให้สื่อมวลชนรายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสอบสวนกรณีการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่ และการเปิดโปงการใช้อำนาจอย่างมิชอบของรัฐบาล”

การลงโทษต่อวอยซ์ ทีวีของรัฐบาลทหาร เป็นผลมาจากรายการที่ออกอากาศช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งให้ข้อมูลที่ตรงข้ามและวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อมูลของหน่วยงานทางทหาร เกี่ยวกับการบุกเข้าไปตรวจค้นวัดพระธรรมกาย การสังหารเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่โดยทหาร การจับกุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองอาวุธ และวางแผนลอบสังหารนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ และโครงการก่อสร้างบ่อนคาสิโนที่อื้อฉาวบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา

ทันทีหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารได้สั่งปิดการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและดิจิทัล รวมทั้งสถานีวิทยุชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่าง ๆ ทางการเมือง ต่อมามีการอนุญาตให้สถานีบางแห่งรวมทั้งวอยซ์ ทีวีได้ออกอากาศ โดยมีการบังคับให้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลทหาร โดยทางสถานีต้องสัญญาว่าจะไม่แสดงความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารหรือสถานการณ์ในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี วอยซ์ ทีวียังคงปฏิบัติตามนโยบายที่จะเป็นสื่ออิสระในการรายงานข่าว แม้ที่ผ่านมาจะถูกทางการลงโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื่องจากทางการไม่พอใจที่ทางสถานียังคงรายงานข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร เฉพาะในปี 2559 กองทัพได้สั่งพักการออกอากาศรายการของวอยซ์ ทีวีกว่า 10 ครั้ง โดยเป็นผลมาจากรายงานข่าวของสถานี

การสั่งลงโทษวอยซ์ ทีวีเนื่องจากเนื้อหาของรายการที่ออกอากาศ เป็นเพียงความพยายามล่าสุดของรัฐบาลทหารไทยที่จะควบคุมสื่อมวลชนของไทยที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทอย่างกว้างขวาง และกดดันให้พวกเขากลายเป็นเพียงกระบอกเสียงของระบอบปกครองของทหาร
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

หลังยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในเดือนมีนาคม 2558 รัฐบาลทหารยังคงเซ็นเซอร์สื่อมวลชนต่อไป โดยใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ห้าม “การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” และการเผยแพร่ “ข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร” ประกาศดังกล่าวยังเป็นการบังคับให้สถานีข่าวต้องเผยแพร่ข้อมูลที่รัฐบาบทหารต้องการด้วย

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ห้ามเพิ่มเติมต่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ซึ่งทางการเห็นว่ามีข้อมูล “โดยมีเจตนาทำให้เกิดความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหาร โดยมีอำนาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบในการสั่งพักรายการของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตอย่างสิ้นเชิง โดยเป็นผลมาจากเนื้อหาของรายการซึ่งทางการเห็นว่ามีลักษณะบิดเบือน สร้างความแตกแยก และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ในระหว่างการทบทวนพันธกรณีของไทยต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) เมื่อวันที่ 13 และ 14 มีนาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้วิจารณ์อย่างหนักหน่วงต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปราบปรามเสรีภาพในขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ

“รัฐบาลทหารควรรับฟังข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ และควรยุติการเซ็นเซอร์” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลควรแสดงพันธกิจโดยทันทีที่จะคุ้มครองเสรีภาพของสื่อ ด้วยการยกเลิกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลาเจ็ดวันต่อวอยซ์ ทีวี และให้ยุติการดำเนินงานใด ๆ ซึ่งเป็นไปเพื่อปิดปากสถานีแห่งนี้และสื่อมวลชนที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื่น ๆ” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country