Skip to main content

ประเทศไทย: รัฐธรรมนูญใหม่สืบทอดอำนาจปกครองของทหาร

การออกเสียงประชามติผ่านไป ท่ามกลางการปราบปรามของรัฐบาลทหารต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาหย่อนบัตรในระหว่างการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 © 2016 Reuters

(นิวยอร์ก) – รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านการออกเสียงประชามติของไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นการเพิ่มและสืบทอดอำนาจปกครองของทหารต่อไป ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การออกเสียงเกิดขึ้นภายหลังการปราบปรามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทำต่อผู้รณรงค์ให้ “โหวตโน” และบุคคลอื่น ๆ ที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญนี้

“การรณรงค์ปราบปรามของรัฐบาลทหารไทย ต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ประกันว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะไม่เป็นธรรม” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แทนที่จะเป็นการฟื้นฟูระบอบปกครองของพลเรือนอย่างเป็นประชาธิปไตยตามคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อนานมาแล้ว รัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งสนับสนุนอำนาจของทหารที่ไม่อาจตรวจสอบได้และระบอบเผด็จการที่ฝังรากลึกมากขึ้น”

ผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 55% ได้ไปใช้สิทธิตอบคำถามการออกเสียงประชามติสองข้อ คำถามข้อแรกคือ จะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญของคสช.หรือไม่ คำถามข้อที่สองคือ ในช่วงห้าปีแรกหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะอนุญาตให้วุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร สามารถลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

หลังจากนับคะแนนทั่วประเทศไป 94% คณะกรรมการการเลือกตั้งรายงานว่า ผู้มีสิทธิประมาณ 15.6 ล้านคน (61%) เห็นชอบตามร่างรัฐธรรมนูญ และอีกประมาณ 9.8 ล้านคน (39%) ไม่เห็นชอบ ตอบคำถามที่สอง ผู้มีสิทธิ 13.9 ล้านคน (58%) ให้ความเห็นชอบ และ 10 ล้านคน (42 %) ไม่ให้ความเห็นชอบ

องค์ประกอบหลักของรัฐธรรมนูญใหม่มุ่งสืบทอดอำนาจปกครองของทหาร โดยทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ดังที่รัฐบาลทหารได้ระบุไว้ รัฐธรรมนูญใหม่ประกอบด้วยข้อบท ซึ่งทำให้มีโอกาสน้อยมากที่พรรคการเมืองเดียวจะได้รับเสียงข้างมากในสภาล่างซึ่งมีสมาชิก 500 คน ส่งผลให้วุฒิสภา 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารจะมีบทบาทสำคัญในรัฐสภา รวมทั้งการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสส.อีกต่อไป

นอกจากนั้น คสช.ยังกำหนดให้ที่นั่งวุฒิสมาชิกบางส่วนเป็นของสมาชิกของคสช.เอง รวมทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งรัฐบาลใหม่และรัฐสภาจะต้องปฏิบัติตาม “แผนปฏิรูป 20 ปี” ของรัฐบาลทหาร

รัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งตอกย้ำอำนาจปกครองของทหารที่เป็นการปฏิบัติมิชอบและตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งเป็นระบอบปกครองที่เกิดขึ้นในไทยนับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557.
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย


นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.ได้ปราบปรามอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อนุญาตให้รัฐบาลทหารปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการใด ๆ โดยไม่มีการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบอย่างเป็นผล รวมทั้งกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองใหม่ในมาตรา 279 กำหนดว่า บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำใด ๆ ของคสช.ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

“รัฐธรรมนูญใหม่ประกันว่า จะไม่มีการตรวจสอบรัฐบาลทหาร สำหรับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนับแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557” อดัมส์กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้แสดงข้อกังวลอย่างต่อเนื่องว่า องค์ประกอบซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับสากล ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการออกเสียงประชามติที่เป็นธรรม ได้ขาดหายไป โดยเฉพาะในแง่ของสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ รัฐบาลได้ปราบปรามสิทธิเหล่านี้อย่างเข้มข้น ทั้งการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น รวมทั้งคำสั่งของรัฐบาลทหารที่เซ็นเซอร์สื่อและห้ามไม่ให้มีการรวมตัวในที่สาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป รัฐบาลยังไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมในการใช้สื่อของรัฐ หรือประกันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ลำเอียง อย่างเป็นอิสระ และตรวจสอบได้

คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนด้วยความกังวลจากองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลต่างประเทศ ที่เรียกร้องให้ทางการไทยเคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นอย่างเสรีเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลทหารได้ตีความโดยพลการว่า การวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็น “ข้อมูลเท็จ” ตามพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ทางการได้จับกุมนักการเมือง นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และผู้สนับสนุนขบวนการทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 120 คน บุคคลเหล่านี้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะโหวตโน มีการกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือพยายามตรวจสอบกระบวนการออกเสียง หากศาลพบว่าบุคคลเหล่านี้มีความผิดฐานละเมิดพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ อาจเป็นเหตุให้ได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาคดีเหล่านี้ในศาลทหารแทนที่จะเป็นศาลพลเรือน

ความไม่อดทนของรัฐบาลทหารต่อฝ่ายที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดข้อกังวลต่อการปราบปรามที่เข้มข้นขึ้นก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2560 แทนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คสช.ได้ใช้กระบวนการออกเสียงประชามติเพื่อส่งเสริมบรรยากาศของความหวาดกลัว และเพื่อสนับสนุนอำนาจควบคุมของรัฐบาลต่อไป

“รัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งตอกย้ำอำนาจปกครองของทหารที่เป็นการปฏิบัติมิชอบและตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งเป็นระบอบปกครองที่เกิดขึ้นในไทยนับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557” อดัมส์กล่าว “องค์การสหประชาชาติและพันธมิตรของประเทศไทย ต้องดำเนินการเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน และให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Topic