Skip to main content

World Report 2013: ประเทศไทย

Events of 2012

 

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ยังคงไม่ได้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงของประเทศไทย รวมถึงการยังไม่ได้เอาผิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2010 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัย และแรงงานต่างด้าว

การเอาผิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมือง

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คนระหว่างการเผชิญหน้ากันทางการเมืองอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นผลจากการใช้กำลังอย่างไม่จำเป็น และเกินกว่าเหตุโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล และการโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการคู่กันไปกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อแดง” 

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอรายงานฉบับสุดท้ายที่กล่าวหาทั้งสองฝ่ายในเหตุรุนแรงเมื่อปี 2553 และชี้ว่า กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิต และการบาดเจ็บส่วนใหญ่ คอป. เรียกร้องรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ให้ “ดำเนินการต่อการละเมิดกฎหมายของทุกฝ่าย โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะต้องเป็นธรรม เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ”

ผลการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยศาลอาญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 พบว่า พัน คำกอง แนวร่วม นปช. ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์เมื่อคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาลจะถูกกดดันโดยผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ให้ประกาศนโยบายว่า ทหารควรจะถูกกันไว้เป็นพยานในกระบวนการสอบสวน และได้รับความคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดี

ขณะเดียวกัน สถานะของการสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมที่มีการกล่าวหาว่าเกิดจากการกระทำของ “กองกำลังชุดดำ” ที่เชื่อมโยงกับ นปช. ก็ยังไม่มีความชัดเจน บุคคลจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาว่ารับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงต่อทหาร ตำรวจ และกลุ่มต่อต้าน นปช. ได้รับการประกันตัว และเชื่อกันว่า บุคคลเหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินคดี แกนนำ และแนวร่วม นปช. รวมทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล และในรัฐสภา ปฏิเสธผลการศึกษาของ คอป. และยืนยันว่า ไม่มีกลุ่มติดอาวุธในการชุมนุมของ นปช. เมื่อปี 2553

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ดำเนินการเยียวยาให้กับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเมื่อปี 2553 อย่างไรก็ตาม เหยื่อ และครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากเกรงว่า เงินเยียวยาถูกเสนอมาเพื่อที่จะแลกกันกับการสอบสวนอย่างสมบูรณ์ และการรับพันธะในการนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ร่างพระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติที่เสนอสู่รัฐสภาโดยสมาชิกพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555มีข้อเสนอที่จะให้มีการนิรโทษกรรมอย่างกว้างขวางแก่กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย นักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และสมาชิกของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงเมื่อปี 2553

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา โล่ และกระบองผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขององค์การพิทักษ์สยาม ซึ่งบุกเข้าใส่แนวของตำรวจ และขับรถบรรทุกฝ่าเครื่องกีดขวาง การปะทะกันดังกล่าวทำให้ผู้ชุมนุมอย่างน้อย 52 คน และตำรวจอย่างน้อย 29 คนได้รับบาดเจ็บ

เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพของสื่อมวลชน

ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า จำนวนการจำกุม และการพิพากษาลงโทษในความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ลดจำนวนลงอย่างมากนับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2554 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555ศาลอาญากรุงเทพฯ พิพากษายกฟ้องสุรภักดิ์ ภูไชยแสง แนวร่วมเสื้อแดง ในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ โดยระบุว่า อัยการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของสุรภักดิ์ถูกใช้ในการโพสต์ข้อความที่ถือว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊ค อนึ่ง กรณีของสุรภักดิ์ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2554 เป็นคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์คดีแรกภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยังคงใช้กฏหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฏหมายอาญา และพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการปราบปราม และดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการลงโทษในกรณีการกระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้นไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ทางการไทยได้ปิดกั้นเว็บเพจที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ไปแล้วมากกว่า 5,000 หน้า

ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์มักจะถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว และต้องถูกคุมขังไว้นานหลายเดือนเพื่อรอการพิจาณาคดีในชั้นศาล โดยผลการดำเนินคดีส่วนใหญ่มักจะลงเอยด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง อำพล ตั้งนพคุณ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555ภายหลังจากที่ถูกพิพากษาให้จำคุก 20 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 เพราะส่งข้อความเอสเอ็มเอสที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์สี่ข้อความเมื่อปี 2553

การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ยังมุ่งเป้าไปที่ “คนกลาง” ในการสื่อสาร ส่งผลทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างกว้างขวางในการพูดคุยอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 จีรานุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการของสื่อออนไลน์ประชาไท ถูกศาลอาญากรุงเทพฯ พิพากษาจำคุกหนึ่งปี โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ จากข้อความที่บุคคลอื่นโพสต์ไว้บนกระดานสนทนาของประชาไท สมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน 2554 และดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากบทความที่เขียนโดยบุคคลอื่นในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณที่เขาเป็นบรรณาธิการ เขาถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวแปดครั้งระหว่างรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล รวมทั้งถูกตีตรวน และนำตัวไปขึ้นศาลเพื่อสืบพยานโจทย์ในสี่จังหวัด ทั้งที่พยานเหล่านั้นอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อนึ่ง ขณะที่เขียนรายงานประจำปีนี้ คดีของสมยศมีกำหนดนัดพิพากษาวันที่ 19 ธันวาคม 2555  

รองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง และผู้นำกองทัพออกมาเตือนอย่างเปิดเผยหลายครั้งไม่ให้นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และกลุ่มการเมืองต่างๆ ทำการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฏหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์

ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนตยังคงโจมตีพลเรือนในปี 2555 ด้วยการวางระเบิด ซุ่มโจมตีจากข้างทาง กราดยิงจากบนรถยนต์ และลอบสังหาร

มีผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนอย่างน้อยร้อยละ 90 ของจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือข่มขู่ และขับไล่ชาวไทยพุทธให้ออกจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งทำลายความน่าเชื่อถือของทางการไทยที่ไม่สามารถคุ้มครองประชาชน และควบคุมชาวมลายูมุสลิมให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพวกตน

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ริเริ่มการใช้กองทุนของรัฐบาลมาเยียวยาให้กับชาวมลายูมุสลิมที่เป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงแทบจะไม่ถูกลงโทษจากกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมาน การบังคับให้สูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

องค์การสิทธิมนุษยชนในพื้นที่รายงานการหายตัวไปของนาสือลัน ปิที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ภายหลังจากที่เขาถูกเจ้าหน้าที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงสองคนบังคับให้ขึ้นรถกระบะแล้วขับออกไป

ภายหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของประเทศมาเลเซียกดดันผู้นำพลัดถิ่นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้มาเจรจากับเจ้าหน้าที่ไทย ผู้ก่อความไม่สงบได้ตอบโต้ด้วยการใช้คาร์บอมบ์โจมตีเขตธุรกิจในจังหวัดยะลา และสงขลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ทำให้พลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 400 คน 

ผู้ก่อความไม่สงบยังคงเผาโรงเรียนรัฐบาล และโจมตีครู ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนอุดมการณ์ของรัฐไทยพุทธ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ผู้ก่อความไม่สงบยิงนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ จังหวัดปัตตานี เสียชีวิต นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบสังหารครูโรงเรียนรัฐบาลไปแล้ว 154 คน นอกจากนี้ ผู้ก่อความไม่สงบได้รับเอาเด็กจากโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามมาเข้าร่วมในการต่อสู้ด้วยอาวุธ และทำหน้าที่เสริมอื่นๆ เช่น โปรยใบปลิวเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งยังใช้โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามบางแห่งเป็นสถานที่ประกอบระเบิด

เพื่อตอบสนองต่อความกังวลจากภายในประเทศ และภายนอกประเทศ แม่ทัพภาคที่ 4 พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์สั่งให้หน่วยความมั่นคงต่างๆ ยุติการตั้งค่ายในโรงเรียนของรัฐบาล

ในปี 2555 ผู้ก่อความไม่สงบยอมรับว่า วางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไว้ใน หรือใกล้ๆ สวนยางพาราที่เป็นของชาวไทยพุทธเพื่อบังคับให้ชาวไทยพุทธยอมละทิ้งกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว  

นโยบายต่อต้านยาเสพติด

ขณะที่ให้สัญญาว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมในการดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติด รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยังคงปฏิเสธว่า ไม่มีเจ้าหน้าของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 2,800 รายที่เกิดขึ้นระหว่างการทำ “สงครามต่อต้านยาเสพติด” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เมื่อปี 2546 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 คณะกรรมาธิการการตำรวจของรัฐสภาพบว่า ตำรวจหน่วยต่อต้านยาเสพติดจังหวัดสกลนครใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในกรณียิงไพโรจน์ แสงฤทธิ์เสียชีวิต และยังยัดยาบ้าไว้ในศพเขา

ภายหลังการไต่สวนที่กินเวลานานเจ็ดปี ศาลอาญากรุงเทพฯตัดสินเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ว่า ตำรวจห้านายจากจังหวัดกาฬสินธุ์มีความผิดในคดีฆาตกรรมเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง โดยเป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาจากกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 20 รายที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2546 ถึง 2548 ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งตำรวจกลุ่มนี้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ศาลให้ตำรวจที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดได้รับการประกันตัวออกไประหว่างขั้นตอนการอุทธรณ์คดี ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพยาน   

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2555 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้ส่งตัวผู้ใช้ยาเสพติดมากกว่า 500,000 คนเข้าสู่ศูนย์บำบัด ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดยขั้นตอนที่เรียกว่าการบำบัดนั้นอาศัยวิธีการออกกำลังกายแบบทหาร ผู้ติดยาที่ถูกคุมขังในเรือนจำก่อนจะถูกส่งตัวไปรับการบังคับบำบัดนั้นแทบจะไม่ได้รับ หรือไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์จากอาการลงแดง

ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่ปี 2554 มีนักสิ่งแวดล้อม และผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมากกว่า 20 คนถูกสังหารในประเทศไทย การสอบสวนคดีเหล่านี้มักประสบปัญหาจากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจ ความล้มเหลวของกระทรวงยุติธรรมในการคุ้มครองพยาน และการที่การเมืองเข้ามาแทรกแซงความพยายามที่จะบังคับใช้กฏหมาย

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม ตลอดจนผู้ช่วยทนายความ และนักศึกษาที่ทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน มักถูกหน่วยงานด้านความมั่นคงบันทึกข้อมูลไว้ว่า “เห็นอกเห็นใจผู้ก่อความไม่สงบ” และมักถูกติดตามสอดแนม ถูกจับกุมโดยพลการ และถูกคุมขัง 

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และแรงงานต่างด้าว

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ปี 2494 และไม่มีกฏหมายภายในประเทศที่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมมักโดนคุมขังเป็นเวลานานจนกว่าจะได้รับอนุมัติให้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม หรือยินยอมถูกเนรเทศโดยออกค่าใช้จ่ายเอง

ประธานาธิบดีเต็ง เส่งของประเทศพม่า เรียกร้องให้ชาวพม่าพลัดถิ่นเดินทางกลับประเทศภายหลังจากที่รัฐบาลลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเบื้องต้นกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด แต่จนถึงขณะนี้ยังมีอุปสรรคอยู่อย่างมาก ซึ่งรวมถึงการขาดข้อตกลงทางการเมืองที่ชัดเจน ปัญหาการเก็บกู้ทุ่นระเบิด และการที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ชายแดนในฝั่งประเทศพม่า นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยืนยันต่อสาธารณะว่า จะไม่มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยมากกว่า 140,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ไม่ว่าสถานการณ๋ในประเทศพม่าจะดูเหมือนมีพัฒนาการในทางบวกเพียงใดก็ตาม

ทางการไทยยังคงดำเนินนโยบายสกัดกั้น และผลักดันเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญามุสลิมจากประเทศพม่า และประเทศบังคลาเทศ ถึงแม้จะมีการกล่าวหาว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนเมิ่อปี 2551 และ2552 ก็ตาม

ในปี 2555 กฎหมายแรงงานของประเทศไทยให้ความคุ้มครองเพียงเล็กน้อยแก่แรงงานต่างด้าว กระบวนการขึ้นทะเบียน และตรวจสอบสัญชาติแรงงานต่างด้าวทำให้แรงงานต่างด้าวมีเอกสารรับรองสถานภาพตามกฏหมาย แต่เอกสารดังกล่าวแทบจะไม่ได้ช่วยแก้ไขการที่นายจ้างสามารถละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าวได้โดยไม่ต้องรับผิด แรงงานต่างด้าวยังคงมีความเสี่ยวอย่างมากต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกท้ายร้ายร่างกาย การถูกกระทำรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ชายมักจะถูกนำตัวไปทำงานบนเรือประมง  

เมื่อเดือนตุลาคม 2555 เจ้าของโรงงาน และเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นห้ามไม่ให้แรงงานต่างด้าวนับพันคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เดินทางออกไปหางานทำนอกพื้นที่ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของแรงงานต่างด้าวตามเอกสารใบอนุญาตทำงาน

ภายหลังจากที่ได้รับคำวิจารณ์จากภายในประเทศ และภายนอกประเทศอย่างรุนแรง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ยอมยกเลิกแผนการที่จะส่งตัวแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์สามถึงสี่เดือนกลับประเทศ

ตัวแสดงระหว่างประเทศที่สำคัญ

สหประชาชาติ สหภาพยุโรป ตลอดจนประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และประเทศนอร์เวย์ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อกระบวนการสร้างความปรองดองทางการเมือง และการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปี 2555 โดยเรียกร้องให้รัฐบาล และฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันในทางการเมืองหันหน้ามาพูดคุยกัน และยับยั้งการที่จะใช้กำลังต่อกัน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นาวิ พิลเลย์ เรียกร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. โดยลงโทษผู้ที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงเมื่อปี 2553 และจัดให้มีการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่ คอป. ระบุไว้