Thai agricultural workers working in a cabbage field on a farm in southern Israel, on July 16, 2014.

สัญญาเถื่อน

การปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรของอิสราเอล

Thai agricultural workers working in a cabbage field on a farm in southern Israel, on July 16, 2014. © 2014 Miriam Alster/Flash90/Redux

21 มกราคม 2558

สัญญาเถื่อน: การปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรของอิสราเอล

สรุป

 

                คืนวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ไพรวัลย์ สีสุขขะ ชาวไทยอายุ 37 ปีเสียชีวิตขณะนอนหลับในสวนเกษตร Kfar Vitkin ใกล้กับเมืองเนทันยา  ไม่กี่กิโลเมตรจากชายฝั่งด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอิสราเอล ไพรวัลย์เสียชีวิตในห้องที่อยู่กันแออัดในโรงนา ซึ่งนายจ้างอิสราเอลดัดแปลงให้เป็นที่พักคนงาน จากข้อมูลของเพื่อนแรงงานด้วยกัน ซึ่งทางฮิวแมนไรท์วอทช์ได้พูดคุยกับแรงงานไทยในวันต่อมา ไพรวัลย์มักจะต้องทำงานเป็นเวลามากถึง 17 ชั่วโมงต่อวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์ ต้องดูแลวัวนมในฟาร์ม และยังต้องดูแลแปลงเพาะชำต้นอโวคาโด แม้ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ และ Kav LaOved ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิในอิสราเอลจะเขียนจดหมาย เพื่อขอให้ทางการอิสราเอลสอบสวนการเสียชีวิตของไพรวัลย์ ก่อนที่จะนำส่งร่างของเขาให้กับสถานทูตไทยเพื่อนำส่งกลับประเทศ แต่ทางการอิสราเอลไม่ได้ดำเนินการสอบสวนแต่อย่างใด

                ระหว่างปี 2551-2556 จากข้อมูลของรัฐบาลตามที่มีการรายงานในหนังสือพิมพ์รายวันฮาอาเร็ตซ์ (Haaretz) คนงานไทย 122 คนเสียชีวิตในอิสราเอล โดย 43 คนเสียชีวิตจากโรค “ใหลตาย” (“sudden nocturnal death syndrome”) ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ชายชาวเอเชียที่แม้มีวัยเยาว์และสุขภาพแข็งแรง ห้าคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และอีก 22 คนเสียชีวิตจากเหตุที่ไม่ปรากฏ เนื่องจากตำรวจอิสราเอลไม่ได้ร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพ Dov Khenin สมาชิกรัฐสภาอิสราเอลพรรค Hadash กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจว่า เหตุใดมีชายหนุ่มสุขภาพแข็งแรงจำนวนมากเสียชีวิต แต่กลับไม่เป็นสัญญาณเตือนให้ทางการทำอะไรบางอย่าง”

                ไพรวัลย์เป็นหนึ่งในแรงงานไทยชายและหญิงประมาณ 20,000 คนซึ่งทำงานในฟาร์มของคนอิสราเอล พวกเขาต้องทำงานหนักในภาคเกษตรที่มีการพัฒนาไปอย่างมาก แม้ว่าไพรวัลย์ต้องทำงานต่อเนื่องยาวนานเป็นพิเศษ แต่ความจริงสภาพชีวิตและการทำงานของไพรวัลย์แทบไม่แตกต่างไปจากคนงานภาคเกษตรในชุมชนเกษตรในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ได้สำรวจพบเลย

                ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ไปพบกับแรงงานไทย 10 กลุ่มซึ่งทำงานในชุมชนเกษตรที่เรียกว่า โมชาวิม (moshavim) ทั้งตอนเหนือ ตอนกลางและใต้ของประเทศ แรงงานทั้งหมดบอกว่าได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ถูกบังคับให้ต้องทำงานเป็นเวลายาวนานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และไม่ได้รับสิทธิให้เปลี่ยนนายจ้างได้ ในชุมชนเกษตร 10 แห่ง ยกเว้นเพียงหนึ่งแห่งที่เราได้ไปสำรวจข้อมูลการดำรงชีวิต เราพบว่าแรงงานไทยต้องอาศัยอยู่ในที่พักที่ดัดแปลงขึ้นและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก จากแรงงาน 10 กลุ่มที่ฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์ มีแรงงงานเพียงกลุ่มเดียวที่แสดงสลิปเงินเดือนให้เราดูได้ โดยเขียนเป็นภาษาฮิบรู และไม่ได้แสดงข้อมูลจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ถูกต้อง จากข้อมูลที่คนงานระบุ

                แรงงานไทยคนหนึ่งซึ่งทำงานในฟาร์มตอนเหนือของประเทศบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า เขารู้สึก “เหมือนก้อนเนื้อที่ตายแล้ว” หลังจากทำงานทั้งวันซึ่งมักเริ่มตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ไปจนถึงหนึ่งทุ่ม เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งบอกว่านายจ้างจะใช้กล้องส่องทางไกลคอยจับตามอง และปฏิบัติกับพวกเขา “เหมือนเป็นทาส” แรงงานหลายกลุ่มบอกว่ามักต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์ และได้รับวันหยุดเพียงสี่วันต่อปี

                ที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง แรงงานไทยพานักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ไปดูสภาพของที่พัก ซึ่งสร้างขึ้นโดยใช้กระดาษแข็งที่มาจากกล่อง ตั้งอยู่ภายในโรงนาของฟาร์ม แรงงานในฟาร์มหลายแห่งระบุถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และอาการแสบตา ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดยาฆ่าแมลงโดยขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม แรงงานบางส่วนระบุว่ามีญาติในไทยส่งยามาให้พวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่นี่ได้ แรงงานยังร้องเรียนกรณีที่นายจ้างคิดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักและค่าน้ำค่าไฟแพงเกินกว่าเหตุ ทั้งยังมีการโก่งราคาสินค้าที่ขายในร้านค้าในสวนเกษตรโมชาวิมซึ่งตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล คนงานซึ่งมีเวลาไม่มาก ไม่สามารถเดินทางไปไกล และไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ จำเป็นต้องซื้อหาอาหารที่มีราคาแพงจากร้านค้าเหล่านี้

                ไม่มีข้อกำหนดให้แรงงานภาคเกษตรต้องขออนุญาตอย่างชัดเจนจากนายจ้างเดิม กรณีที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง แม้ว่าวีซ่าจะกำหนดให้ต้องทำงานเฉพาะในภาคเกษตรเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้วการเปลี่ยนนายจ้างเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แรงงานที่พยายามเปลี่ยนนายจ้างจะถูกนายหน้าคิดค่าธรรมเนียมมากเท่ากับเงินเดือนทั้งเดือนหรือกว่านั้น นายหน้ารายหนึ่งแจ้งกับคนงานในชุมชนเกษตรแห่งหนึ่งว่า “ถ้าคุณต้องการย้ายไปที่อื่น ก็ไปเองสิ” แรงงานระบุ แรงงานในชุมชนเกษตรแห่งนี้จึงทำการประท้วงนัดหยุดงานเนื่องจากได้ค่าแรงต่ำ สภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมและต้องทำงานเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ตีห้าจนถึงสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มในช่วงหลายเดือนในฤดูร้อน แม้ว่าการประท้วงเป็นเหตุให้มีการเพิ่มค่าจ้างและลดเวลาในการทำงาน แต่ค่าจ้างใหม่ที่ได้ยังคงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย และแกนนำการประท้วงสองคนต้องตกงาน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นการตอบโต้ของนายจ้าง

                แรงงานส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่ามีกลไกกำกับดูแลที่คุ้มครองสิทธิพวกเขาอย่างไร หรืออาจเป็นเพราะไม่มีความเชื่อมั่นในกลไกเหล่านี้ มีแรงงานเพียงสองกลุ่มที่เคยพบกับเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน หรือทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานรายหนึ่งมาตรวจเยี่ยมสภาพการจ้างงานในช่วงที่พวกเขาทำงานในอิสราเอล ในทั้งสองกรณี แรงงานบอกว่าเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจะพูดคุยกับนายจ้าง แต่ไม่คุยกับคนงาน มีเพียงแรงงานกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชนเกษตรแห่งหนึ่งที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ไปสำรวจ ดูเหมือนจะทราบว่ากฎหมายแรงงานอิสราเอลอนุญาตให้คนงานรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และคุ้มครองสิทธิในการประท้วงหยุดงาน กรณีที่มีการแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 15 วัน แม้ว่า Kav LaOved (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของแรงงาน) ซึ่งเป็นเอ็นจีโออิสราเอลที่ทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติพยายามให้ความรู้กับแรงงานในที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิของพวกเขา รวมทั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับค่าจ้างและเวลาในการทำงาน

                การหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติเข้าสู่อิสราเอลเริ่มขึ้นเมื่อประมาณต้นทศวรรษ 1990 ก่อนหน้านั้น แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวปาเลสไตน์จากเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาซึ่งต้องทำงานหนักในอิสราเอล รวมทั้งในภาคเกษตร แต่ภายหลังการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์หรือกรณีที่เรียกว่า อินติฟาดา (intifada) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2530 รัฐบาลอิสราเอลได้จำกัดจำนวนชาวปาไลสไตน์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในอิสราเอล ในปัจจุบันกฎหมายอิสราเอลอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานเฉพาะในงานบางประเภทที่กำหนดไว้เท่านั้น

                ในปี 2534 อิสราเอลได้ปรับปรุงกรอบกฎหมายเดิมเพื่อคุ้มครองแรงงาน และกำหนดกฎหมายใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาใหม่ ในปี 2554 อิสราเอลลงนามในความตกลงทวิภาคี โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand- Israel Cooperation on the Placement of Workers - TIC) ที่มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกกระบวนการจัดหาแรงงานไทยในภาคเกษตร ซึ่งช่วยลดการคอรัปชั่นในการจัดหาแรงงานได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการสมัครงานสำหรับแรงงานไทยรวมทั้งการขอใบอนุญาตทำงาน

                แม้ว่าความตกลงดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นก้าวย่างในเชิงบวก จากข้อมูลของแรงงานที่เราได้ไปสัมภาษณ์ เราพบว่าไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าเงินค่าธรรมเนียมที่แรงงานจ่ายในการสมัครงาน ส่งผลต่อการปฏิบัติของนายจ้างอิสราเอลแต่อย่างใด กล่าวคือ แรงงานที่เข้ามาทำงานก่อนจะมีโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลฯ และแรงงานที่เข้ามาทำงานภายใต้เงื่อนไขโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลฯ ต่างได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน คือได้รับค่าแรงต่ำ ต้องทำงานเป็นเวลายาวนาน และมีสภาพที่พักอาศัยที่เลวร้าย

การปฏิบัติมิชอบที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับแรงงานไทยในภาคเกษตรตามข้อมูลในรายงานฉบับนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกความล้มเหลวของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายของตนเอง รวมทั้งการบังคับให้ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ การกำหนดเพดานชั่วโมงการทำงาน การอนุญาตให้มีการประท้วงหยุดงานและการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามกฎหมาย และการกำหนดเงื่อนไขอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสภาพที่พักของคนงาน

                ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งการแบ่งแยกความรับผิดชอบในการกำกับดูแลอย่างไม่จำเป็น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรอย่างเพียงพอ การไม่ดำเนินการเมื่อได้รับข้อมูลจากกลไกรับข้อร้องเรียนรวมทั้งการตรวจสอบแรงงานเชิงรุกเป็นระยะ และการที่รัฐไม่เข้าไปแทรกแซงลงโทษนายจ้างและนายหน้าทั้ง ๆ ที่กฎหมายอิสราเอลให้อำนาจไว้

                ภาคเกษตรกรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสองกระทรวงหลักได้แก่ สำนักงานประชากร การเข้าเมืองและพรมแดน (Population, Immigration and Border Authority- PIBA) ภายใต้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ (เดิมเคยเรียก กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงาน และกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมตามลำดับ) PIBA ระบุว่า พวกเขาไม่ได้เก็บสถิติจำนวนการตรวจแรงงานที่มีการปฏิบัติ และไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานมากน้อยเพียงใด กระทรวงเศรษฐกิจไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนการตรวจแรงงานที่ปฏิบัติได้ โดยระบุว่าจำนวนการเข้าเยี่ยมสถานประกอบการไม่ได้เป็นภาพสะท้อนที่ถูกต้องเกี่ยวกับจำนวนการตรวจแรงงานที่เกิดขึ้น ในวันที่ 31 มีนาคม 2557 หนังสือพิมพ์ฮาอาเร็ตซ์รายงานว่า หน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพในการประกอบอาชีพของกระทรวงเศรษฐกิจมีเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานอยู่เพียงประมาณ 20 คนซึ่งทำหน้าที่ตรวจแรงงานภาคเกษตรทั่วประเทศ และอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่กระทรวงคนหนึ่งที่บอกว่า “เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานมีภาระงานที่หนักมาก ทำให้ไม่สามารถสอบสวนหรือบังคับใช้กฎระเบียบได้อย่างจริงจัง” ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทางการอิสราเอลได้สั่งปรับเกษตรกรและนายหน้าเพียง 15 ครั้งคิดเป็นเงินจำนวน 334,845 เหรียญ มีการออกจดหมายเตือน 145 ฉบับ และมีการพักใบอนุญาตนายหน้าแรงงานเพียงหนึ่งครั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีแรงงานเสียชีวิต 87 คนในภาคเกษตร มีทั้งที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นเพราะอาการด้านโรคหัวใจ อย่างเช่นกรณีคนงานใหลตาย เป็นต้น 

                PIBA รวมทั้งกระทรวงเกษตรต่างต้องรับผิดชอบในการออกใบอนุญาตทำงานและต่ออายุใบอนุญาตประจำปีให้กับเกษตรกร แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีการสั่งพักใบอนุญาตเหล่านี้แต่อย่างใด

                การไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายและระเบียบว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวนชั่วโมงการทำงาน สภาพที่อยู่อาศัย และสุขภาพกับความปลอดภัย แสดงให้เห็นว่าในภาคเกษตรกรรม ทางการอิสราเอลกำลังละเมิดสิทธิของแรงงานต่างชาติที่ควรสามารถทำงานได้อย่างเป็นธรรมและมีเงื่อนไขที่เหมาะสม มีสภาพที่อยู่อาศัยเหมาะสม และมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง สถานการณ์เลวร้ายลงเนื่องจากระเบียบของอิสราเอลซึ่งควบคุมจำกัดสิทธิของแรงงานที่จะเปลี่ยนนายจ้าง

                รูปแบบการเสียชีวิตในภาคเกษตรที่เป็นปัญหาใหญ่ ควรเป็นเหตุให้ทางการอิสราเอลต้องดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้านและเป็นอิสระต่อกรณีการเสียชีวิต และประเมินสภาพการดำรงชีวิตและการทำงานของแรงงานเหล่านี้ การที่รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายและระเบียบได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของแรงงาน

                เพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรตามข้อมูลในรายงานฉบับนี้ รัฐบาลอิสราเอลควรเพิ่มการกำกับดูแลเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามระเบียบด้านแรงงาน มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานต่างชาติแบบเดียวกับที่คุ้มครองพลเมืองของตน ให้มีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบ มีบทลงโทษต่อนายจ้างที่ปฏิบัติมิชอบต่อแรงงาน และให้สอบสวนความเชื่อมโยงระหว่างสภาพการดำรงชีวิตและการทำงาน และรูปแบบการเสียชีวิตในแรงงานภาคเกษตรซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

 

ข้อเสนอแนะ

 

ต่อรัฐบาลอิสราเอล

ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบแรงงาน

  • ปรับปรุงและทำให้กระบวนการตรวจแรงงานมีขั้นตอนน้อยลง ทั้งนี้เพื่อให้มีหน่วยงานตรวจแรงงานภาคเกษตรหนึ่งแห่งที่รับผิดชอบในการประกันให้แรงงานในภาคส่วนนี้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และให้มีการเพิ่มค่าจ้างในส่วนที่เป็นการทำงานล่วงเวลา ดูแลให้ไม่ต้องทำงานเกินเพดานจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ตามกฎหมาย กำหนดให้มีประกันสุขภาพ (ตามกฎหมาย) ออกบัตรสุขภาพและการสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ กำหนดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยและมีข้อมูลการใช้งานอย่างเหมาะสม กำหนดให้คนงานสามารถลาป่วย และมีสภาพที่อยู่อาศัยซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอิสราเอล
  • ประกันว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมีบุคลากรและทรัพยากรมากเพียงพอเพื่อสอบสวนตามข้อร้องเรียนใด ๆ ที่ได้รับ โดยเป็นการสอบสวนอย่างทันท่วงทีและมีการสุ่มตรวจแรงงานและการตรวจตามวาระ
  • ประกันให้ในการตรวจแรงงานตามวาระมีการสอบถามข้อมูลจากคนงานด้วย และให้จ้างเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานซึ่งพูดภาษาไทยได้ หรือให้มีล่ามภาษาไทยเดินทางไปด้วย

กำหนดบทลงโทษสำหรับนายจ้างและนายหน้าอย่างจริงจังและให้มีผลต่อใบอนุญาตประกอบการ

  • ให้ทบทวนกระบวนการลงโทษ เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมและประสิทธิภาพของบทลงโทษที่มีต่อนายจ้างและนายหน้าในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติของบทลงโทษที่ส่งผลให้มีการใช้บทลงโทษเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการละเมิดกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานในภาคเกษตรในอนาคต
  • กำหนดเงื่อนไขใบอนุญาตทำงานให้กับนายจ้างในภาคเกษตร โดยต้องดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติเสียก่อน

สอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตและปรับปรุงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

  • ให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระ รอบด้านและไม่ลำเอียงกรณีที่เกิดการเสียชีวิตของแรงงานในภาคเกษตรนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อประเมินว่าสภาพการดำรงชีวิตและการทำงานของแรงงานมีอิทธิพลต่อการเสียชีวิตของคนงานเหล่านี้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
  • ประกันให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้านกรณีที่เกิดการเสียชีวิตในภาคเกษตรในอนาคต และเมื่อเกิดการเสียชีวิตใด ๆ การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเมื่อมีข้อร้องเรียนจากแรงงานเกี่ยวกับ “โรคใหลตาย” การเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อน (heat stroke) โรคหัวใจ ผลข้างเคียงจากการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน หรือสาเหตุการเสียชีวิตใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน จะต้องเป็นเหตุให้มีการไต่สวนการตายเพื่อสอบสวนสภาพการดำรงชีวิตและการทำงานของคนงานที่เสียชีวิตโดยอัตโนมัติ ประกันให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รับแจ้งผลการสอบสวน และได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วมในกระบวนการนั้น รวมทั้งความร่วมมือจากสถานทูตของตน
  • แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อขจัดเงื่อนไขที่จำกัดให้แรงงานในภาคเกษตรต้องทำงานกับนายจ้างเพียงคนเดียว และอนุญาตให้แรงงานสามารถเลือกไปทำงานกับนายจ้างคนใดก็ได้ที่มีใบอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้
  • ให้บริการศูนย์ฮอตไลน์ด้านสุขภาพกับแรงงานไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานซึ่งสามารถพูดภาษาไทยได้ และสามารถประสานงานกับคลินิกหรือโรงพยาบาลในท้องถิ่น เพื่อประกันให้แรงงานสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล กรณีที่นายจ้างไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเหล่านั้น

สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลสำหรับแรงงาน นายจ้าง และผู้กำหนดนโยบาย

  • ประกันให้มีการปรับปรุงคู่มือแรงงานต่างชาติของ PIBA ให้ครอบคลุมรายละเอียดสิทธิของคนงานในการประท้วงหยุดงานและขั้นตอนปฏิบัติของการใช้สิทธิเหล่านั้น
  • เผยแพร่คู่มือสำหรับเกษตรกรที่จ้างแรงงานต่างชาติ โดยให้ระบุความรับผิดชอบตามกฎหมายของพวกเขา และบทลงโทษต่อผู้ละเมิดกฎหมาย
  • ออกกฎหมายบังคับให้นายจ้างทุกคนในโมชาวิมและคิบบุตชิม (kibbutzim) ของอิสราเอล จัดทำประกาศทั้งในภาษาฮิบรูและภาษาไทยอย่างชัดเจนและติดตั้งไว้ถาวร ระบุอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน อัตราค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลา และเพดานชั่วโมงการทำงานสูงสุดของภาคเกษตร รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนที่รับเรื่องร้องเรียน
  • ออกกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องให้สลิปเงินเดือนกับแรงงานโดยเขียนเป็นภาษาที่คนงานอ่านได้

ต่อรัฐบาลไทย

  • ให้เปิดเผยข้อมูลอาการบาดเจ็บและเสียชีวิตของแรงงานเท่าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวิฟได้บันทึกไว้ รวมทั้งการปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะให้กระทำอย่างเคารพต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย
  • ให้จัดประชุมทวิภาคีกับทางการอิสราเอล เพื่อประกันว่าความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลฯ ส่งผลให้สภาพชีวิตและการทำงานของแรงงานดีขึ้นจริง กดดันอิสราเอลให้ปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติในการตรวจแรงงาน ให้มีการลงโทษนายจ้างซึ่งละเมิดกฎหมายอย่างเป็นผล ให้สอบสวนเมื่อเกิดการเสียชีวิต และสนับสนุนให้คนงานเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพ
  • สนับสนุนให้ครอบครัวของแรงงานที่เสียชีวิตมีส่วนร่วมในการสอบสวนสาเหตุการตาย