Skip to main content

การจัดหาผู้ต้องขังเพื่อมาทำงานบนเรือประมง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลไทย

ทำเนียบรัฐบาล

ถนนพิษณุโลก, เขตดุสิต

กรุงเทพ ฯ 10300 ประเทศไทย

 

เรื่อง         การจัดหาผู้ต้องขังเพื่อมาทำงานบนเรือประมง

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในฐานะตัวแทนจากองค์กรนอกภาครัฐและองค์กรแรงงานในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค 43 องค์กร เราขอแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการนำร่องของ กระทรวงแรงงาน ที่จะให้มีการใช้แรงงานผู้ต้องขังบนเรือประมง ดังที่ได้กล่าวมา โครงการนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการละเมิดสิทธิ์ผู้ต้องขัง และการใช้แรงงานจากผู้ต้องขังยังเป็นการละเมิดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน รวมไปถึง จรรยาบรรณและระเบียบปฏิบัติของบริษัทต่างชาติหลายบริษัท โครงการนี้ยังอาจจะไม่สามารถแก้ไขต้นตอปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ การดำเนินโครงการนี้อาจจะเป็นการตอกย้ำข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยปราศจากความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนเรือประมง และอาจจะกลายเป็นปัจจัยที่ขัดขวางไม่ให้ไทยได้รับการจัดอันดับให้ดีขึ้นจาก เทียร์ 3 (Tier 3) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Trafficking in Persons Report–TIP Report)ประจำปี พ.ศ.2558

ดังที่เราทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมประมง มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก โดยมูลค่าการส่งออกผลผลิตจากอุตสาหกรรมประมงมีมูลค่า 89,596 ล้านบาท (จากการส่งออกผลผลิตอาหารทะเลทั้งสิ้น 704,658 ตัน  ) ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2557[1]  โดยมีการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงมากกว่า 300,000 คน โดยร้อยละ 90 เป็นแรงงานข้ามชาติ[2]ซึ่งส่วนมากไม่ได้ผ่านการจดทะเบียนให้ทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกละเมิดสิทธิ์  โดยรายงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าเรือประมงไทยหลายแห่งมีการเอาเปรียบแรงงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับการประกอบธุรกิจ ในช่วงปี พ.ศ.2557 เหตุการณ์ที่ปรากฏและถูกนำเสนอโดยสำนักข่าวหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น บีบีซี (BBC)[3] รอยเตอร์ส(Reuters)[4] หรือ เดอะ การ์เดียน(the Guardian)[5] ได้ตีแผ่สภาพการทำงานที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็น การลักลอบค้ามนุษย์, การบังคับแรงงานด้วยการทำให้ติดหนี้สิน, การทำร้ายร่างกาย, การฆาตกรรม, การละเลยไม่จ่ายค่าจ้าง, การกักขังหน่วงเหนี่ยว และการบังคับใช้แรงงานถึงวันละ 20 ชั่วโมงบนเรือประมงบางลำ ซึ่งสภาพการทำงานที่โหดร้ายและปราศจากมนุษยธรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมง

การนำผู้ต้องขังมาทำงานแทนแรงงานข้ามชาติไม่อาจจะแก้ไขปัญหาสภาพการทำงานที่ทารุณ และ ปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมงได้ ถึงแม้ว่ากระทรวงแรงงานจะยืนยันว่าจะใช้เฉพาะผู้ต้องขังที่สมัครใจเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ความสมัครใจเนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักไม่อาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงการถูกบังคับจากเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานยังแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบสภาพการทำงานและการบังคับการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานในภาคประมง ทั้งยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องเหล่านี้ ดังนั้น คำยืนยันจากรัฐบาลไทยจึงไม่อาจเป็นการรับประกันได้ว่า กระทรวงแรงงานจะสามารถคุ้มครองผู้ต้องขังที่จะมาทำงานบนเรือให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานไทย อีกทั้งยังไม่อาจเป็นการรับประกันได้ว่าผู้ต้องขังเหล่านี้จะไม่ตกอยู่ในสภาพที่ได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นแรงงานที่ถูกบังคับ

นอกจากนี้ การใช้แรงงานจากผู้ต้องขังเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจหรือเพื่อกิจการที่มุ่งหวังผลกำไร ยังเป็นการละเมิดบรรทัดฐานและมาตรฐานสากล โดย“ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นตํ่าว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของสหประชาชาติ” (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) ได้ระบุว่าการใช้แรงงานผู้ต้องขังต้องเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกอาชีพมิใช่การใช้เพื่อลงโทษ และผู้ต้องขังต้องมีสิทธิ์ในการเลือกประเภทงานที่จะทำ งานที่ทำต้องไม่ทำเพื่อมุ่งหวังผลกำไร และผู้ต้องขังต้องไม่ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อองค์กรธุรกิจเอกชน นอกจากนี้  ประเทศไทยยังได้ลงสัตยาบรรณใน”อนุสัญญาว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับฉบับที่ 29 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ”(International Labour Organization Convention No. 29 on Forced Labour) ซึ่งระบุว่าการใช้แรงงานผู้ต้องขังในองค์กรธุรกิจเอกชนต้องได้รับการยินยอมจากผู้ต้องขัง ถึงแม้ว่ารายละเอียดแผนปฏิบัติการของโครงการนี้ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่การที่ผู้ต้องขังปราศจากตัวเลือกอื่นนอกจากการทำงานในอุตสาหกรรมประมง และ วัตถุประสงค์การทำงานที่มุ่งหวังผลกำไร ล้วนแต่เป็นการละเมิดต่อมาตรฐานแรงงานสากลตามที่กล่าวมา

ชื่อเสียงของอุตสาหกรรมประมงไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่สื่อมวลชลนานาชาติได้ตีแผ่ถึงการใช้แรงงานที่ถูกบังคับและการลักลอบนำเข้าแรงงาน บริษัทผู้ซื้อทั้งไทยและต่างชาติยังได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบการจัดซื้อผลผลิตอาหารทะเลของไทยเพื่อหลีกเลี่ยงแหล่งผลิตที่มีการใช้แรงงานบังคับ และบริษัทต่างชาติหลายแห่งได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยการประกาศไม่ซื้อสินค้าที่มีแหล่งผลิตในประเทศไทย

โครงการที่จะนำผู้ต้องขังมาทำงานบนเรือประมงนี้ไม่สมเหตุสมผลและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นการทำลายชื่อเสียงและส่งผลกระทบต่อผลผลิตอาหารทะเลของไทย ถ้ามีการดำเนินโครงการนี้จริง บริษัทต่างชาติที่ซื้อผลผลิตอาหารทะเลของไทยก็จะต้องพบกับความเสี่ยงและแรงกดดันที่มีต่อชื่อเสียงบริษัทจากลูกค้า รวมไปถึงมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นจากผู้ตรวจสอบของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่มีหน้าที่ป้องกันการนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตที่ใช้แรงงานบังคับ

ผู้ค้ารายใหญ่ในประเทศตะวันตกอาจจะไม่อยากเสี่ยงที่จะซื้อสินค้าที่มีแหล่งผลิตจากประเทศที่มีการใช้แรงงานจากผู้ต้องขัง และอาจจะสั่งให้ตัวแทนจัดซื้อเลี่ยงการซื้อสินค้าจากเรือประมงที่มีการใช้แรงงานผู้ต้องขัง ซึ่งผลกระทบทางด้านชื่อเสียงที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเรือที่ใช้แรงงานผู้ต้องขังเท่านั้น แต่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมประมงของไทยทั้งหมด

ถ้ามีการปฏิบัติโครงการนี้จริง เราจะนำเสนอประเด็นนี้แก่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังทำการประเมินการจัดอันดับของไทยใน TIP Report ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ดังที่เราทราบดีว่า การละเมิดสิทธิ์แรงงานในอุตสาหกรรมประมงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ประเทศไทยถูกลดอันดับมาอยู่ใน เทียร์ 3 ใน TIP Report ประจำปี พ.ศ.2557 โครงการใช้แรงงานผู้ต้องขังจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยล้มเหลวในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ์แรงงาน และการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมง

รัฐบาลไทยควรจะตระหนักว่า หนทางเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงก็คือ การบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานซึ่งจะช่วยดึงดูดให้มีแรงงานอยากมาทำงานมากขึ้น และเป็นการสร้างผลลัพท์ที่น่าพึงพอใจแก่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น : แรงงานประมงได้รับการรับประกันการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ , ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีแรงงานที่เพียงพอต่อความต้องการ ,และบริษัทผู้ซื้อจากประเทศตะวันตกได้รับการรับประกันว่าสินค้าที่ซื้อไม่ได้มาจากแหล่งผลิตที่มีการใช้แรงงานบังคับ รัฐบาลไทยควรจะตระหนักว่าการใช้แรงงานผู้ต้องขังจะเป็นการก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลลัพท์ที่น่าพึงพอใจแก่ทุกฝ่ายเหล่านี้

ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรจะหยุดความพยายามที่จะนำผู้ต้องขังมาทำงานบนเรือประมง และหยุดโครงการนำร่องของกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมโดยทันที เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ปกป้องชื่อเสียงของอุตสาหกรรมประมงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ และในขณะเดียวกัน ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะ แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ์แรงงานบนเรือประมง และ ขจัดการลักลอบค้ามนุษย์และนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย

 

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

 

 

[1] Foreign Fisheries Affairs Division, Department of Fisheries, Ministry of Agriculture and Cooperatives, “Information on Fisheries Exports, Years 2007-2014”,

http://www.fisheries.go.th/foreign/index.php?option=com_content&view=category&id=16&Itemid=14

[2] Kate Hodal and Chris Kelly, The Guardian, “Trafficked into Slavery on Thai Trawlers to Catch Food for Prawns,” June 10, 2014,

http://www.theguardian.com/global-development/2014/jun/10/-sp-migrant-workers-new-life-enslaved-thai-fishing.

 

[3] Becky Palmstrom, BBC, “Forced to Fish: Slavery on Thailand’s Trawlers”, Jan. 23, 2014, www.bbc.co.uk/news/magazine-25814718.

 

[4] Jason Szep and Andrew R.C. Marshall, Reuters, “Special Report: Thailand Secretly Supplies Myanmar Refugees to Trafficking

Rings”, Dec. 4, 2013, www.reuters.com/article/2013/12/05/us-thailand-rohingya-special-report-idUSBRE9B400320131205.

 

[5] Kate Hodal and Chris Kelly, ibid.

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.