Skip to main content

ประเทศไทย: สอบสวนการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนที่เชื่อมโยงกับความรุนแรงทางการเมือง

ความล้มเหลวในการเอาผิดเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลตอกย้ำปัญหาการปล่อยให้คนผิดลอยนวล

(กรุงเทพฯ) - ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลถูกดำเนินคดีจากอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมือง ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ รัฐบาลความดำเนินการสอบสวนอย่างไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และโปร่งใส เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล และผู้ชุมนุมประท้วงที่ก่ออาชญากรรม

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า "เห็นชัดๆ ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลยิงผู้ชุมนุมประท้วง ส่วนกองกำลังติดอาวุธก็ยิงทหาร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครที่ต้องรับผิด" "คนที่ถูกสังหาร และได้รับบาดเจ็บสมควรจะได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ รัฐบาลควรจะรับรองว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิ์มนุษยชนจากทั้งสองฝ่ายต้องถูกสอบสวน และดำเนินคดีลงโทษ"

รายงานความยาว 139 หน้า เรื่อง "จมดิ่งลงสู่ความโกลาหล: การชุมนุมประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงในประเทศไทย ปี 2553 และการปราบปรามโดยรัฐบาล" นำเสนอข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนจากการกระทำของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง และภายหลังจากการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย เมื่อปี 2553 รายงานฉบับนี้อาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ, พยาน, ผู้ชุมนุมประท้วง, นักวิชาการ, ผู้สื่อข่าว, ทนายความ, นักสิทธิมนุษยชน, สมาชิกรัฐสภา, เจ้าหน้าที่รัฐบาล, เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง, ตำรวจ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรุนแรงต่างๆ จากทางฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง รายงานฉบับนี้บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลดำเนินการโจมตีผู้ชุมนุมประท้วงจนทำให้เกิดการเสียชีวิต และยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "คนชุดดำ" ที่เชื่อมโยงกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คนเสื้อแดง" นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังอธิบายภูมิหลังของวิกฤติการเมืองที่เป็นชนวนนำไปสู่การชุมนุมประท้วง และจนถึงขณะนี้วิกฤติการเมืองดังกล่าวก็ยังคงดำเนินอยู่

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมากนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลใช้กำลังขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตในลักษณะที่เกินความจำเป็น และปราศจากเหตุอันควร โดยที่สะพานผ่านฟ้า ทหารบางนายที่มีปืน M16 และ TAR21 ยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมประท้วง ทหารบางคนก็ยิงกระสุนยางจากปืนลูกซองใส่ผู้ชุมนุมประท้วงตรงๆ จนทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ส่วนในปฏิบัติการสลายการชุมนุมประท้วงที่ราชประสงค์ กองทัพบกใช้พลซุ่มยิงในการยิงผู้ที่ล่วงล้ำเข้าไปในเขต "ห้ามเข้า" ระหว่างแนวของผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่ม นปช. และแนวของทหาร รวมทั้งผู้ที่ขว้างปาก้อนหิน และสิ่งของต่างๆ ใส่ทหาร นอกจากนี้ ในบางครั้ง ทหารยังได้ยิงเข้าใส่ฝูงชนในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง

ผู้ชุมนุมประท้วงรายหนึ่งเล่าให้ฮิวแมนไรท์วอทช์ฟังว่า "ทหารยิงทุกคนที่เคลื่อนไหว" "ผมเห็นผู้ชายสองคนถูกทหารยิง ขณะที่พวกเขาพยายามจะออกมาจากที่ซ่อน และวิ่งไปหาที่ปลอดภัย ผมเชื่อว่า คนจำนวนมากเสียชีวิต เพราะหน่วยกู้ชีพ และรถพยาบาลไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในวัดปทุมจนกระทั่งเกือบเที่ยงคืน"

ขณะที่ทางการไทยยังไม่ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับบาดแผลของผู้ที่เสียชีวิตระหว่างวันที่ 14 ถึง 19 พฤษภาคม การตรวจสอบเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยฮิวแมนไรท์วอทช์บ่งชี้ว่า การที่มีผู้ชุมนุมประท้วงที่ปราศจากอาวุธ, อาสาสมัครกู้ชีพ และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงหลายคนถูกสังหารด้วยการยิงกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะหนึ่งนัดนั้น แสดงให้เห็นว่า มีการใช้พลซุ่มยิง และกล้องเล็งกำลังสูง ทั้งนี้ ในช่วงเย็นของวันที่ 13 พฤษภาคม พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ผู้สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง และอ้างว่ากระทำการต่างๆ ในนามของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถูกลอบสังหารด้วยการยิงที่ศีรษะขณะกำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม รัฐบาลไทยระดมกำลังพลจากหน่วยทหารปกติ และหน่วยรบพิเศษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ เพื่อสลายแนวเครื่องกีดขวางของกลุ่ม นปช. รอบๆ พื้นที่ชุมนุมประท้วงราชประสงค์ ทหารบางนายยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงที่ปราศจากอาวุธ, อาสาสมัครกู้ชีพ และผู้สื่อข่าวที่อยู่หลังแนวเครื่องกีดขวางดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ทหารยิงประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อยสี่คนภายใน หรือบริเวณใกล้ๆ กับวัดปทุมวนาราม ซึ่งผู้ชุมนุมประท้วงนับพันคนเข้ามาอาศัยหลบภัยภายหลังจากที่แกนนำของพวกเขายอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่ โดยหนึ่งในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตนั้นมีอาสาสมัครกู้ชีพ ซึ่งถูกยิงขณะที่กำลังพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรวมอยู่ด้วย

แกนนำการชุมนุมประท้วงหลายคน และสมาชิกจำนวนมากของกลุ่ม นปช. ถูกตั้งข้อหาอาญาที่ร้ายแรง และกำลังอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ์กลับยังไม่ต้องรับผิดใดๆ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ความล้มเหลวในการเอาผิดกับบุคคลที่มีอิทธิพลในขั้วการเมืองฝ่ายต่างๆ นั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิ์เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลอยู่เหนือกฎหมาย

แบรด อดัมส์กล่าวว่า "แกนนำ นปช. ถูกตั้งข้อหาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงไปแล้ว แต่ถึงแม้รัฐบาลจะให้สัญญาว่าจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทหาร หรือตำรวจซักนายที่ถูกดำเนินคดี" "สภาพเช่นนี้เน้นให้เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนไทยว่า ตาชั่งของกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่เป็นกลาง"

กองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนกลุ่ม นปช. ได้โจมตีทำร้ายตำรวจ และทหารจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 เมษายน ทหารที่พยายามบุกเข้าสลายค่ายของกลุ่ม นปช.ที่สะพานผ่านฟ้าเผชิญหน้ากับกลุ่มติดอาวุธ "คนชุดดำ" ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม นปช. โดยมีอาวุธครบมือ และมีการประสานงานกันเป็นอย่างดี กลุ่มติดอาวุธ "คนชุดดำ" ยิงปืน M16 และ AK47 ใส่ทหาร รวมทั้งยังใช้เครื่องยิงระเบิด M79 และระเบิดมือ M67 อีกด้วย ทหารที่เสียชีวิตเป็นรายแรกๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว คือ พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ซึ่งเป็นเป้าของการโจมตีด้วยระเบิด

ระหว่างวันที่ 14 ถึง 19 พฤษภาคม ผู้ชุมนุมประท้วงออกมาต่อสู้อย่างซึ่งๆ หน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปิดล้อมราชประสงค์ โดยมีการเผายาง, ขว้างระเบิดเพลิง, ยิงหนังสติ๊ก และใช้ระเบิดที่ทำขึ้นเอง ซึ่งมีหลายครั้งที่กองกำลัง "คนชุดดำ" ซึ่งมีอาวุธดีกว่า และมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วได้ออกมาต่อสู้ร่วมกันกับผู้ชุมนุมประท้วงด้วย

ระหว่างวันที่ 23 ถึง 29 เมษายน การ์ดที่มีอาวุธของกลุ่ม นปช. บุกเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทุกคืน โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลให้ที่พักพิงกับทหาร และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล จนทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต้องย้ายผู้ป่วย และปิดการบริการชั่วคราว นอกจากนี้ แกนนำ และผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่ม นปช. บางคนแสดงปฏิกิริยาที่ก้าวร้าวต่อผู้สื่อข่าว ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่า วิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมประท้วง หรือมีท่าทีเข้าข้างรัฐบาล

แกนนำกลุ่ม นปช. มีส่วนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงขึ้นด้วยคำปราศรัยที่มีเนื้อหายั่วยุให้ผู้ชุมนุมประท้วงก่อจลาจล, วางเพลิง และปล้มสะดม แกนนำกลุ่ม นปช. ยุยงให้ผู้สนับสนุนของตนทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็น "ทะเลเพลิง" ถ้าหากทหารพยายามสลายการชุมนุมประท้วง ซึ่งก็ปรากฏว่า กลุ่มที่สนับสนุน นปช. ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว โดยโจมตีอาคาร, ธนาคาร, ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล หรือฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณ ซึ่งรวมถึงตลาดหลักทรัพย์, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารมาลีนนท์ที่เป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่องสาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ในวันนั้น ผู้สนับสนุนกลุ่ม นปช. สถานที่ราชการในจังหวัดขอนแก่น, อุบลราชธานี, อุดรธานี และมุกดาหาร ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีเหล่านั้นมีมูลค่าสูงนับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ

แบรด อดัมส์กล่าวว่า "ไม่ว่าพวกเขาจะมีประเด็นที่เป็นความเจ็บปวดอะไร และถูกรัฐบาลปฏิบัติต่ออย่างไร แต่ความรับผิดชอบของสมาชิกกลุ่ม นปช. ต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นนั้นควรที่จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย" "แกนนำกลุ่ม นปช. ควรจะเข้าใจว่า พวกเขาไม่สามารถอ้างตัวว่าเป็นขบวนการสันติวิธีได้เมื่อมีการใช้ความรุนแรง"

นับตั้งแต่ที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลได้ใช้อำนาจฉุกเฉินกักขังผู้ต้องสงสัยนับร้อยคนโดยไม่มีการตั้งข้อหานานถึง 30 วัน ในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่มีมาตรการสำหรับป้องกันการละเมิดสิทธิจัดไว้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เรียกตัวนักการเมือง, อดีตข้าราชการ, นักธุรกิจ, นักเคลื่อนไหว, นักวิชาการ และผู้ดำเนินรายการวิทยุมาสอบสวน อายัดบัญชีธนาคารของเอกชน และบริษัทต่างๆ  รวมทั้งยังได้ควบคุมตัวบุคคลบางคนไว้ในสถานที่ที่ควบคุมโดยทหาร สมาชิกกลุ่ม นปช. ที่ถูกควบคุมตัวรายงานให้ฮิวแมนไรท์วอทช์ฟังว่า พวกเข้าถูกซ้อมทรมาน และบังคับให้รับสารภาพ, ถูกจับกุม และควบคุมตัวโดยพลการ และถูกนำตัวไปไว้ในสถานที่ควบคุมตัวที่มีความแออัด

รายงานฉบับนี้ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ และการใช้ข้อหาทางอาญาเพื่อบั่นทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลให้อำนาจที่กว้างขวางของพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปิดหน้าเว็บไซต์มากกว่า 1,000 หน้า, ปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และสถานีโทรทัศน์ออนไลน์, ปิดสิ่งพิมพ์ และปิดวิทยุชุมชนมากกว่า 40 สถานี ซึ่งเป้าหมายของการดำเนินการดังกล่าวส่วนใหญ่ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปเมื่อเดือนธันวาคม แต่รัฐบาลก็ยังคงใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต และดำเนินคดีลงโทษผู้คัดค้านรัฐบาล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม นปช.

แบรด อดัมส์กล่าวว่า "รัฐบาลบั่นทอนข้ออ้างของตนเองที่บอกว่าเคารพสิทธิ์ เมื่อได้ทำการเซ็นเซอร์ความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง" "การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเสรีเป็นอุปสรรคร้ายแรงที่ขัดขวางโอกาสที่จะมีการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในประเทศไทย"

ปากคำบางส่วนจากรายงานเรื่อง "จมดิ่งลงสู่ความโกลาหล

"เราพบว่า พื้นที่บริเวณด้านหน้า และด้านข้างของรัฐสภามีผู้ชุมนุมประท้วงรวมตัวอยู่กันแน่นเต็มไปหมด แต่ไม่มีสัญญาณของความรุนแรงเลย...แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปราวบ่ายโมง เมื่ออริสมันต์ [พงษ์เรืองรอง] มาถึง และใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีปลุกระดม และสั่งผู้ชุมนุมประท้วงให้บุกฝ่าประตูรั้วด้านหน้าของรับสภา เพื่อ "ไล่ล่า" [รองนายกรัฐมนตรี] สุเทพ [เทือกสุบรรณ]"

- ผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มสันติวิธีเล่าถึงเหตุการณ์ที่กลุ่ม นปช. บุกเข้าไปในรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553

"แล้วทหารก็ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มคนเสื้อแดง...ผู้ชุมนุมประท้วงเริ่มร้องขอให้ทหารอย่าเข้าโจมที่ค่ายของพวกเขา...ผมได้ยินเสียงปืนหลายนัด...ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มต่อสู้กันอีกครั้งนานประมาณ 30 นาที ทหารยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมประท้วง และยิงปืน M16 ขึ้นฟ้า...ทหารยังได้เล็งปืน M16 เข้ามาที่กลุ่มคน...และทันใดนั้น ผมก็ถูกยิงที่ขา"
- วินัย ดิษฐจร ช่างภาพ ซึ่งถูกยิงที่ขาในพื้นที่การปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

"คนเสื้อแดงกำลังผลักแนวออกไป...ทหารใช้แก๊สน้ำแต่ แต่ลมพัดย้อนแก๊สกลับมาหาพวกเขา...แล้วทหารก็เริ่มยิงปืนขึ้นฟ้า และต่อมาพวกเขาก็ถูกโจมตีด้วยระเบิด พวกเขาล่าถอย และนำตัวทหารที่บาดเจ็บไปด้วย และเพื่อคุ้มกันผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พวกเขายิงตอบโต้กลับไป พวกคนชุดดำอยู่ทางด้านหน้าของพวกเขา กำลังลงมือโจมตี...นายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชา [พันเอกร่มเกล้า] อยู่ที่ด้านหน้าตอนที่เขาถูกสังหาร...พวกเขามีทหารที่ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 นาย
- โอลิเวอร์ ซาร์บิล ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ซึ่งเห็นเหตุการณ์การปะทะที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

"พวกเขาเป็นอดีตทหาร บางคนก็ยังรับราชการอยู่ พวกเขาบางคนเป็นพลร่ม และมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่เป็นมาจากกองทัพเรือ พวกเขามีปืน AR15, TAR21, M16, AK47...พวกเขาบอกผมว่า งานของพวกเขาคือการคุ้มครองผู้ชุมนุมประท้วงคนเสื้อแดง แต่งานจริงๆ ของพวกเขาคือการเขย่าขวัญทหาร...พวกเขาปฏิบติการส่วนใหญ่ในเวลากลางคืน แต่บางครั้งก็ลงมือตอนกลางวันด้วย"
- ผู้สื่อข่าวต่างชาติอธิบายประสบการณ์เกี่ยวกับคนชุดดำ

"ผมกำลังถ่ายรูปอยู่กับทหารที่ถนนวิทยุ...แล้วผมก็วิ่งทางฝั่งกลุ่มคนเสื้อแดง...ระหว่างที่ผมกำลังวิ่งข้ามถนน ผมก็ถูกยิงที่ข้อมือ ผมวิ่งต่อไปจนในที่สุดก็ไปเจอกับคนที่ถูกยิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งเขากำลังโบกผ้าขนหนูสีขาว ขณะที่ผมกำลังก้มลง ผมก็ถูกยิงอีกครั้งเข้าที่ขา...เท่าที่ผมรู้ กระสุนทุกนัดมาจากฝั่งของทหาร การ์ดของกลุ่มคนเสื้อแดงคนหนึ่งวิ่งข้ามถนนมา เขาคว้าแขนผม ต่อมาเขาบอกผมว่า ฉันถูกยิงอีกนัดที่ด้านข้างของลำตัวขณะที่เขากำลังลากตัวผมออกมา"
- เนลสัน แรนด์ ผู้สื่อข่าวชาวแคนาดา อธิบายว่าเขาถูกยิงอย่างไร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากที่ทหารบังคับใช้พื้นที่ "กระสุนจริง" ในบางส่วนของกรุงเทพฯ

"ปฏิบัติการทั้งหมดนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เราเห็นทหารเกณฑ์ที่มีท่าทีหวาดกลัวระดมยิงเข้าใส่เต๊นท์ในสวนลุมพินีโดยปราศจากการควบคุม ไม่มีการสั่งการ และควบคุมในระดับที่คุณคาดหวังจะเห็นในปฏิบัติการลักษณะนี้...เมื่อผมอยู่กับทหารในสวนตรงบริเวณแนวรั้ว พวกเขายิงใส่คนที่อยู่ในสวน...สวนกลายเป็นเขตที่ยิงได้อย่างอิสระ ทหารเคลื่อนที่ไปพร้อมกับยิงปืนของพวกเขาตามแนวถนนวิทยุ และถนนพระรามสี่"    
- นักวิเคราะห์ทางทหารชาวต่างชาติ ซึ่งได้ติดตามทหารไประหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

"พวกเราหลายคนเข้ามาซ่อนในวัดปทุม แกนนำบอกพวกเราว่าวัดเป็นเขตปลอดภัย...ประมาณหกโมงเย็น ผมได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านหน้าของวัด และผมเห็นคนวิ่งเข้ามาทางผม...ก่อนที่ผมจะทำอะไร ผมก็ถูกยิงเข้าที่ขาซ้าย และที่หน้าอก กระสุนทะลุขาผม ทหารยิงทุกคนที่เคลื่อนไหว ผมเห็นผู้ชายสองคนถูกทหารยิง ขณะที่พวกเขาพยายามจะออกมาจากที่ซ่อน และวิ่งไปหาที่ปลอดภัย ผมเชื่อว่า คนจำนวนมากเสียชีวิต เพราะหน่วยกู้ชีพ และรถพยาบาลไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในวัดปทุมจนกระทั่งเกือบเที่ยงคืน ผมเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งทรมานจากบาดแผลที่ถูกยิงนานประมาณ 45 นาทีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต พวกเราบางคนพยายามคลานออกจากที่ซ่อนเพื่อไปช่วยเหลือคนที่ได้รับบาดเจ็บ และนำศพของผู้เสียชีวิตออกมา แต่พวกเราก็ถูกทหารยิงใส่"
- ณรงศักดิ์ สิงห์แม ผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่ม นปช. ซึ่งถูกยิง และได้รับบาดเจ็บในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  

"ผู้ชุมนุมประท้วง และกองกำลังคนชุดดำประมาณ 50 คน ทุบกระจกหน้าต่างบุกเข้ามา พวกเขาบางคนเข้าไปในลานจอดรถใต้ดิน พวกเขาปล้นสะดมร้านค้า ปล้นสะดมรถยนต์ในลานจอดรถ ต่อมาพวกเขาจุดไฟโดยใช้ระเบิดเพลิง พวกเขาบางคนพยายามระเบิดถังแก๊ส...มื่อพวกเรารู้ว่าเรามีคนน้อยกว่า และพวกที่บุกเข้ามาปล้นสะดม และกองกำลังคนชุดดำมีอาวุธ พวกเราจึงตัดสินใจล่าถอย...คนของผมบางคนที่ลานจอดรถใต้ดินพยายามต่อสู้ แต่พวกเขาถูกโจมตีด้วยระเบิด และปืน"

- ไพรวรรณ รุนนอก ยามรักษาความปลอดภัยของเซ็นทรัลเวิลด์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ห้างสรรพสินค้าถูกปล้นสะดม และวางเพลิง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.