Skip to main content

ประเทศไทย: ยุติความรุนแรงทางการเมือง และนำตัวคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

รัฐบาลควรสอบสวน และดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดจากทุกฝ่าย

(นิวยอร์ค) - องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า รัฐบาลไทยควรรักษาคำสัญญาที่จะตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว, มีประสิทธิภาพ และเป็นกลางในการตรวจสอบความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดจากการกระทำของทุกฝ่ายระหว่างการชุมนุมประท้วง รวมทั้งยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในทันที  และขอให้รัฐบาลนำตัวผู้กระทำความผิดจากทุกฝ่ายมาลงโทษตามกฏหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรที่จะยุติการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเว็บไซต์อีกด้วย   

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ความพยายามของรัฐบาลที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรหนุนหลัง ได้ขยายตัวกลายเป็นการต่อสู้บนท้องถนนของกรุงเทพฯ รายงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณระบุว่า มีพลเรือน 15 คน และทหาร 5 คนเสียชีวิต เนื่องจากถูกยิง, ถูกระเบิด หรือถูกทุบตีระหว่างที่เกิดการปะทะกัน นอกจากนี้ ยังมีพลเรือน 569 คน,  ทหาร 265 คน และตำรวจ 8 คน ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา, ถูกทุบตี, ถูกแทง, ถูกยิง และถูกสะเก็ดระเบิด

แบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า "เมื่อวันที่ 10 เมษายน ประเทศไทยเผชิญกับความรุนแรงการเมืองที่นองเลือดที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ" "รัฐบาล และแกนนำของผู้ประท้วงจำเป็นจะต้องให้สัญญาต่อสาธารณะว่า จะยุติการใช้ความรุนแรง และรับรองว่า ผู้ที่กระทำความผิดจะถูกนำตัวมาสอบสวน และดำเนินคดีอย่างเหมาะสม"

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพยายามจำกัดกิจกรรมของ นปช. ด้วยการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ. ความมั่นคง) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมประท้วงเคลื่อนขบวน, ยึดสถานที่ต่างๆ และปิดกั้นการจราจรในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ของการชุมนุมประท้วง ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคมนั้น กลุ่มผู้ประท้วงที่มีเสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ได้ขัดขืนอำนาจของ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้วยการเคลื่อนขบวนอย่างสันติไปรอบกรุงเทพฯ รวมทั้งยังได้ปิดกั้นการจราจรที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า และแยกราชประสงค์ เพื่อตั้งเวทีสำหรับการชุมนุมประท้วงอย่างยืดเยื้อ

การปะทะกัน
การประท้วงของ นปช. กลายเป็นความรุนแรง เมื่อวันที่ 7 เมษายน หลังจากที่อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และแกนนำคนอื่นๆ ของ นปช. นำกลุ่มผู้ประท้วงจากเวทีสะพานผ่านฟ้าไปปิดล้อมรัฐสภา ขณะที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กำลังประชุมกันอยู่ ตำรวจปราบจลาจลถูกกดดันให้ถอยร่นไป ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้รถบรรทุกดันฝ่าประตูรั้ว และบุกเข้าไปในรัฐสภาแล้ว อริสมันต์ได้นำกลุ่มผู้ประท้วงตามหาตัวรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเขากล่าวหาว่า เป็นผู้สั่งให้ตำรวจปราบจลาจลขว้างแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วง ส่วนการุณ โหสกุล สส. พรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนทักษิณ ก็ได้เรียกให้กลุ่มผู้ประท้วงควบคุมตัวสารวัตรทหารที่ทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ โดยกลุ่มผู้ประท้วงรุมทำร้าย และแย่งอาวุธ (ปืนพกสั้น และปืนเอ็ม 16) ของสารวัตรทหารคนดังกล่าว ระหว่างที่เกิดความชุลมุนขึ้นนั้น รัฐมนตรี และ สส. ได้ทยอยกันหลบหนีออกจากรัฐสภาด้วยการปีนบันไดข้ามรั้ว ซึ่งถึงแม้ สส. บางคน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะชักปืนออกมาระหว่างที่กำลังหลบหนี แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยิงปืนออกไปแต่อย่างใด ภายหลังจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการที่ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภา ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

การปะทะกันอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งนำโดยจตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ไสเกื้อ, อริสมันต์, การุณ และแกนนำของ นปช. คนอื่นๆ ได้เคลื่อนขบวนไปสถานีดาวเทียมไทยคมที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อที่จะเชื่อมต่อการส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์พีทีวี ซึ่งถูกปิดกั้นไปภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทหารที่รักษาการณ์อยู่ที่สถานนีดาวเทียมไทยคมใช้โล่ และกระบอง, รถฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาเพื่อจะหยุดยั้งกลุ่มผู้ประท้วง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับถูกปิดล้อมกดดันโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่มีจำนวนมากกว่า จนในที่สุดทหารต้องถอนกำลังออกไป เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้มีผู้ชุมนุมประท้วงได้รับบาดเจ็บ 16 คน และทหารได้รับบาดเจ็บ 5 คน การยึดครองสถานีดาวเทียมไทยคมยุติลงเมื่อ นปช. บรรลุข้อตกลงกับตำรวจ, ทหาร และผู้บริหารของไทยคมว่า จะมีการเชื่อมต่อสัญญาณแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์พีทีวีอีกครั้ง (อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ การแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์พีทีวียังคงถูกปิดกั้นอยู่บางส่วน)

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์มีคำสั่งให้ทหาร และตำรวจยับยั้งไม่ตอบโต้ต่อการยั่วยุโดยกลุ่มผู้ประท้วงในช่วงแรกๆ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน และเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม เมื่อวันที่ 9 เมษายนนั้น ดูเหมือนจะเกิดจากการวางแผนให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตอบโต้ด้วยความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน ส่งผลทำให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ตัดสินใจที่จะเพิ่มระดับของการใช้กำลังในการดำเนินความพยายามเพื่อยุติการชุมนุมประท้วงของ นปช.

ทหารมากกว่า 1,000 คนถูกระดมกำลังมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 10 เมษายน การต่อส้บนท้องถนนเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13 นาฬิกา เมื่อขวัญชัย ไพรพนา ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. นำกลุ่มผู้ประท้วงจากเวทีที่สะพานผ่านฟ้าไปเผชิญหน้ากับทหารที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงพยายามบุกเข้าไปในที่ตั้งของทหาร พวกเขาถูกสกัดกั้นด้วยรถฉีดน้ำ ทางฝ่ายกลุ่มผู้ประท้วงตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหิน และท่อนไม้ใส่ทหาร หลังจากนั้น ทหารได้ออกมาจากที่ตั้ง และใช้โล่ และกระบอง, แก๊สน้ำตา และกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม ภาพวิดีโอ และภาพถ่ายของสื่อมวลชนชี้ให้เห็นว่า ทหารบางคนยิงปืนเอ็ม 16 และปืนทีเออาร์ 21 ที่บรรจุกระสุนจริงขึ้นฟ้าตลอดช่วงบ่ายวันนั้น ซึ่งองค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชได้เห็นภาพถ่ายที่แสดงว่า แมกกาซีนของปืนดังกล่าวใช้กระสุนจริง ชนิดบอล เอ็ม 855 ขนาด 5.56 มม. ที่มีปลายสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีการโยนกระป๋องแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ของทหารใส่กลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ 

การขยายตัวของความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน
สถานการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายนมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงค่ำ โดยกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกัน และตอบโต้ทหารด้วยท่อนเหล็ก และไม้ไผ่เหลาปลายแหลม ผู้ประท้วงบางคนขว้างระเบิดเพลิง และระเบิดแสวงเครื่องเข้าใส่ทหาร ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็มีหลักฐานภาพวิดีโอ และภาพถ่ายของสื่อมวลชนที่แสดงว่า ทหารบางคนยิงปืนเอ็ม 16 และปืนทีเออาร์ 21 ด้วยกระสุนจริงเป็นวิถีตรงเข้าใส่ผู้ประท้วง

มือปืนในกลุ่มผู้ประท้วงใช้ปืนเอ็ม 16 และปืนเอเค 47 ยิงเข้าใส่ทหารที่บริเวณแยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน นอกจากนี้ ยังมีการยิงระเบิดเอ็ม 79 และขว้างระเบิดมือเอ็ม 67 เข้าใส่ทหารด้วย ภาพวิดีโอแสดงว่า มือปืนเหล่านี้มีทักษะ และการประสานงานระหว่างปฏิบัติการในระดับสูง โดยการโจมตีส่วนหนึ่งนั้น ดูเหมือนจะมีเป้าหมายที่จะสังหาร หรือทำให้นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาบาดเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

พยานที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน เล่าให้องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชฟังว่า ผู้ประท้วงบางคนได้ขัดขวางไม่ให้รถพยาบาลนำทหารที่ได้รับบาดเจ็บออกจากจุดปะทะ  และยังได้ลากตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บออกมารุมทำร้ายด้วย


ความสูญเสียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่อทั้ง 2 ฝ่ายทำให้รัฐบาลประกาศเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ของวันที่ 10 เมษายนว่า จะยุติการสลายการชุมนุมประท้วง อนึ่ง นอกจากจะมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บแล้ว นปช. ยังอ้างว่า มีผู้ประท้วงจำนวนมากที่สูญหายไปภายหลังจากที่เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน

ณัฐวุฒิ ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. ประกาศบนเวทีปราศรัยหลายครั้งในลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้ประท้วงบุกเข้าไปฉกชิงสินค้า และทำลายห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ถ้าหากมีการสลายการชุมนุมประท้วง ดังนั้น ถึงแม้จะมีแรงกดดันให้สลายการชุมนุมประท้วง แต่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ก็สั่งการให้ยกเลิกปฏิบัติการที่แยกราชประสงค์ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความเสียหาย รวมทั้งการบาดเจ็บ และเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชยินดีที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ประกาศว่า จะให้มีการสอบสวนอย่างรวดเร็ว, มีประสิทธิภาพ และเป็นกลางเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของทุกฝ่าย

แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "คำประกาศของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ว่า จะสอบสวนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เขาจะต้องแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ และความสามารถที่จะทำตามคำสัญญาดังกล่าว" "ในขณะเดียวกัน แกนนำของ นปช. และผู้ประท้วงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมก็จะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แกนนำของ นปช. จะต้องเข้าใจว่า ทันทีที่มีการใช้ความรุนแรง พวกเขาก็จะไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไปว่า นปช. เป็นขบวนการสันติวิธี"

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเน้นว่า การสอบสวนดังกล่าวจำเป็นจะต้องระบุว่า ใครเป็นผู้สั่งการให้ทหารยิงกระสุนจริง และการยิงปืนด้วยกระสุนจริงเกิดขึ้นภายในสถานการณ์แบบใด ทั้งนี้ ในการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะนั้น เจ้าหน้าที่มีพันธะที่จะต้องใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมกันกับระดับของภัยคุกคาม หรือวัตถุประสงค์ที่มีความชอบธรรม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายนว่า ทหารได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงใน 2 กรณี คือ การยิงปืนขึ้นฟ้า และการยิงปืนเพื่อป้องกันตัวขณะที่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลัง และอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย (United Nations Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่จะหันไปใช้กำลัง และอาวุธปืน ทั้งนี้ เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และอาวุธปืนไม่ได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องมีความยับยั้งชั่งใจ และกระทำการไปอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมต่อความร้ายแรงของการละเมิดกฏหมายที่เกิดขึ้น อนึ่ง การใช้กำลังในระดับที่ทำให้เสียชีวิตจะสามารถใช้ได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการปกป้องรักษาชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการรายงาน และตรวจสอบการใช้กำลัง และอาวุธปืนที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างร้ายแรง

ในประเด็นข้างต้น องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชมีความกังวลเกี่ยวกับบทบัญญัติที่ให้ภูมิคุ้มกันอย่างกว้างขวางของพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) ซี่งรัฐบาลทักษิณริเริ่มนำมาใช้ โดยมาตรา 17 ของ พรก. ฉุกเฉิน กำหนดว่า ผู้ที่ใช้อำนาจฉุกเฉินนั้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง, ทางอาญา และทางวินัย ถ้าหากได้ดำเนินการไปโดยสุจริต และเหมาะสมต่อสถานการณ์ บทบัญญัติดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินการทุกอย่างของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการดำเนินการที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วย ดังนั้น มาตรา 17 ของ พรก. ฉุกเฉิน จึงขัดต่อพันธะของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้น และจะต้องนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น

แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่การต่อสู้กันบนท้องถนนยุติลง แต่ความรุนแรงทางการเมืองอาจเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกขณะ" "ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมือง ก่อนที่ความรุนแรงจะประทุขึ้นมาอีก โดยประเด็นสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกในการป้องกันความรุนแรงครั้งใหม่ก็คือ การนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกฝ่ายมาลงโทษตามกฏหมาย"

การโจมตีสื่อมวลชน และการปิดกั้นสื่อมวลชน
องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว และขอประณามการที่รัฐบาลไทยปิดกั้นสื่อมวลชน

ฮิโร มูราโมโต ช่างภาพโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วง และทหารเมื่อวันที่ 10 เมษายน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ที่ทำให้เขาเสียชีวิต

แกนนำบางคนของ นปช. และผู้ประท้วงแสดงความก้าวร้าวต่อผู้สื่อข่าวชาวไทยที่วิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมประท้วง หรือเปิดโปงการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 เมษายน มีการกดดันให้ผู้สื่อข่าวต้องถอนตัวออกจากบริเวณสะพานผ่านฟ้า และในวันเดียวกันนั้น รถถ่ายทอดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยถูกผู้ประท้วง นปช. ล้อมไว้ที่บริเวณสถานีดาวเทียมไทยคมที่จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ นปช. ยังมักจะเคลื่อนขบวนไปประท้วงที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งยังมีการโจมตีสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีด้วยระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดมือเอ็ม 67 และการโจมตีสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่กรุงเทพฯ ด้วยระเบิดมือเอ็ม 67  

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชระบุว่า รัฐบาลได้บั่นทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างมาก เมื่อรองนายกรัฐมนตรีสุเทพใช้อำนาจฉุกเฉินสั่งปิดเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมทั้งยังมีการปิดกั้นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุทางอินเตอร์เน็ตด้วย โดยมีการกล่าวหาว่า เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ อนึ่ง เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่ถูกปิด, สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และการส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุทางอินเตอร์เน็ตนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ นปช. องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้อำนาจฉุกเฉินปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกในทันที รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลหันมาใช้กฏหมายอาญาที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศในการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงแทนการใช้อำนาจฉุกเฉิน

แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "รัฐบาลบ่อนทำลายคำกล่าวอ้างว่า ตนเองเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เนื่องจากมีการปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง" "ผู้สื่อข่าว และเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมือง"

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.